Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Mar 21, 2015
แนวโน้มและพัฒนาการตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน
ตอน 1 ตราสารหนี้ระยะยาวภาคเอกชน

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน

ตลาดตราสารหนี้ระยะยาวภาคเอกชนของไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากมูลค่าคงค้างที่เพิ่มขึ้นจาก 835,211 ล้านบาทในปี 2006 เป็น 2,209,971 ล้านบาทในปี 2014 คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 165% ในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา (คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 13% ต่อปี) นอกจากนี้อายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ยังมีแนวโน้มยาวขึ้นจากประมาณ 4 ปี ในปี 2006 เพิ่มขึ้นเป็น 6 ปี ในปี 2014 สำหรับตราสารหนี้ระยะสั้นก็มีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน จากมูลค่าคงค้าง 322,415 ล้านบาทในปี 2006 เพิ่มขึ้นเป็น 600,714 ล้านบาทในปี 2014 คิดเป็นอัตราการขยายตัวกว่า 86% ในเวลาเพียง 8 ปี (คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี) นี่ย่อมแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของตลาดตราสารหนี้ในการเป็นแหล่งระดมทุนของภาคเอกชน

สัดส่วนมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ต่อ GDP

เมื่อเทียบสัดส่วนของหนี้ภาคเอกชนในภาคเศรษฐกิจจริงทั้งระบบต่อ GDP จะเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2011-2014 โดยในปี 2014 หนี้ภาคเอกชนในภาคเศรษฐกิจจริงคิดเป็นสัดส่วน 52.18% ของ GDP เพิ่มขึ้นจาก 46.84% ในปี 2006 โดยพบว่าการออกตราสารหนี้เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการระดมทุน โดยเฉพาะการใช้ตราสารหนี้ระยะยาว (LT) ที่เติบโตจาก 6.01% ในปี2006 เป็น 12.24% ในปี 2014 ในขณะที่ตราสารหนี้ระยะสั้นแม้จะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำที่ 4.57% ของ GDP ในปี 2014

แนวโน้มมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ระยะยาวภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงิน

เมื่อแบ่งตราสารหนี้ภาคเอกชนเป็น 2 ส่วน คือภาคเศรษฐกิจจริง(Real sector) และภาคการเงิน (Financial sector) จะพบว่าตราสารหนี้ระยะยาวในภาคเศรษฐกิจจริงมีมูลค่าคงค้างสูงกว่าภาคการเงินประมาณ 2 เท่า อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ภาคธุรกิจมีการเติบโตของมูลค่าคงค้างอย่างต่อเนื่อง โดยภาคการเงินมีการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 11% ต่อปีนับจากปี 2006-2014 มีมูลค่าคงค้างแตะจุดสูงสุดที่ 782,822.49 ล้านบาทในปี 2014 ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจจริง มีการเติบโตเฉลี่ยที่ประมาณ 13% ต่อปี มูลค่าคงค้างจุดสูงสุดที่ 1,399,530 ล้านบาทในปี 2014

เทียบมูลค่าคงค้างตราสารหนี้กับการกู้เงินผ่านธนาคารพาณิชย์ของภาคธุรกิจ

ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา การระดมทุนของภาคธุรกิจโดยการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการเติบโตของการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ทั้งระยะยาวและระยะสั้น แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนเริ่มเห็นความสำคัญของการออกตราสารหนี้เพื่อลดต้นทุนของการระดมทุนมากขึ้น

อายุเฉลี่ยตราสารหนี้ และ 2Y-10Y spread

เมื่อเทียบอายุเฉลี่ยของการออกตราสารหนี้ระยะยาวกับส่วนต่างผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี และ 10 ปี (Gov’t bond yield spread) โดยทั่วไปแล้วหาก Gov’t bond yield spread ต่ำจะชี้ให้เห็นว่าต้นทุนการออกตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาวไม่ต่างกันมาก ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้ภาคเอกชนออกตราสารหนี้ระยะยาวมากขึ้นเพื่อล็อคต้นทุนดอกเบี้ยระยะยาวไว้ จากภาพจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา อายุเฉลี่ยของการออกตราสารหนี้ระยะยาวภาคเอกชนมีแนวโน้มสวนทางกับ yield spread อย่างชัดเจน ซึ่งสะท้อนว่าภาคเอกชนได้ใช้โอกาสในการล็อคต้นทุนดอกเบี้ยระยะยาวในช่วงที่ yield curve มีความชันต่ำ

กลุ่มธุรกิจที่มีบทบาทหลักในตลาดตราสารหนี้ไทย

เมื่อมองเป็นราย Sector ตั้งแต่ช่วงปี 2006-2015 พบว่า มีกลุ่มธุรกิจหลัก 5 กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการออกตราสารหนี้ระยะยาวในบ้านเรา ได้แก่กลุ่มพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ วัสดุก่อสร้าง อาหารและคมนาคมและขนส่ง โดยกลุ่มพลังงานมีมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ระยะยาวสูงที่สุด อีกสองกลุ่มที่น่าจับตามองได้แก่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2010 หากในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2015 การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลเป็นไปตามที่วางแผน ทั้งสองกลุ่มธุรกิจนี้น่าจะเป็นกลุ่มหลักที่มีการออกตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มขึ้น

อายุเฉลี่ยตราสารหนี้ภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงิน

ที่น่าสังเกตคือภาคเศรษฐกิจจริงมีแนวโน้มการออกตราสารหนี้ระยะยาวซึ่งมีอายุเฉลี่ยยาวขึ้น ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของภาคเศรษฐกิจจริงในการใช้ประโยชน์จากตลาดตราสารหนี้มากขึ้น ในขณะที่ตั้งแต่ปี 2012 ภาคการเงินมีแนวโน้มการออกตราสารหนี้ที่มีอายุสั้นลง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิน้อยลงตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา

เมื่อแบ่งภาคการเงินออกเป็นกลุ่มธนาคาร (Banking) และกลุ่มสินเชื่อ (Leasing) พบว่าแนวโน้มมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ซึ่งออกโดยกลุ่ม Banking และ Leasing มีทิศทางไปในทางเดียวกัน หากแต่อายุเฉลี่ยของการออกตราสารหนี้ของทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยตลอดช่วงระยะเวลาเกือบ 10 ปี กลุ่ม Leasing มีการออกตราสารหนี้ในอายุเฉลี่ยค่อนข้างคงที่ คือ 2.5-3 ปี ซึ่งสะท้อนถึงลักษณะของธุรกิจที่เป็นการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ยาวมากนัก เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ในขณะที่กลุ่ม Banking อายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่ออกจะมีอายุค่อนข้างยาว โดยเฉพาะในปี 2012 ซึ่งเป็นปีที่ธนาคารต่างๆ ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากสามารถนับเป็นเงินกองทุนธนาคารได้ โดยหุ้นกู้ด้อยสิทธิมีอายุค่อนข้างยาว คือมากกว่า 10 ปีขึ้นไป

ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการออกตราสารหนี้ระยะยาวภาคเอกชน

ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ภาคเอกชนถือเป็นโอกาสที่ดีในการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ โดยเฉพาะการออกตราสารหนี้ระยะยาวเพื่อล็อคต้นทุนทางการเงิน จากภาพจะเห็นว่าการทยอยปรับลดดอกเบี้บนโยบาย นับตั้งแต่กลางปี 2011 ภาคธุรกิจมีการออกตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการลดลงของดอกเบี้ยนโยบาย กลับมิได้ส่งผ่านไปยังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ของธนาคาร ดังนั้นการออกตราสารหนี้ระยะยาวภาคเอกชนจึงไม่มีความสัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ย MLR

ดังนั้น ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับภาคเอกชนที่จะระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ระยะยาวก่อนที่อ้ตราดอกเบี้ยจะเปลี่ยนเป็นทิศทางขาขึ้น

All Blogs