• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Sep. 27, 2021
Perpetual Bond กับลักษณะเฉพาะที่ผู้ออกต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง

Perpetual Bond เป็นตราสารหนี้ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นตราสารหนี้ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไปมาก ซึ่งดอกเบี้ยที่สูงนี้ก็มาพร้อมกับลักษณะเฉพาะหรือเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้ตราสารหนี้ชนิดนี้มีความเสี่ยงสูงขึ้นนั่นเอง วันนี้เราจะมาแจกแจงลักษณะเฉพาะของ Perpetual Bond กันทีละข้อ ได้แก่

1. ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท: ตราสารหนี้ทั่วไปจะกำหนดเวลาไถ่ถอนที่ชัดเจน แต่ Perpetual Bond (Perp) จะไม่กำหนดวันไถ่ถอนไว้ โดยผู้ออกจะทำการไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ดังนั้นอาจมีอายุยาวนานเป็นร้อยปีก็ได้จึงจะเลิกบริษัท และหากถ้าต้องเลิกบริษัท ผู้ออกก็อาจมีเงินไม่พอที่จะมาไถ่ถอนหุ้นกู้ Perp ก็ได้ นักลงทุนจึงมีความเสี่ยงที่อาจจะได้รับเงินต้นคืนช้ามากๆ หรือได้ไม่ครบจำนวน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่มีความใกล้เคียงกับทุน

2. สิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด: การลงทุนใน Perpetual Bond ที่ไม่มีกำหนดวันไถ่ถอนจึงอาจไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนนัก ดังนั้น Perpetual Bond ส่วนใหญ่จึงกำหนดให้ผู้ออกมีสิทธิไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด (Call option) เช่น วันครบกำหนด 5 ปี นับจากวันออกหุ้นกู้หรือวันชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้แต่ละครั้ง ภายหลังจากปีที่ 5

โดยปกติผู้ออกมีแรงจูงใจหลายอย่างในการไถ่ถอนก่อนกำหนด แรงจูงใจหลักข้อหนึ่งมาจากหลักเกณฑ์ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่จะนับเป็นทุนครึ่งหนึ่งในช่วง 5 ปีแรก หลังจากนั้นจะถูกนับเป็นหนี้ทั้งจำนวน บริษัทส่วนใหญ่จึงมักจะไถ่ถอน Perpetual Bond เมื่ออายุครบ 5 ปีเพื่อมิให้อัตราส่วน Debt to equity (DE ratio) สูงขึ้น และเพื่อหลีกเลี่ยงอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับสูงขึ้นเมื่อครบ 5 ปี ตามที่กำหนดไว้ และที่สำคัญนักลงทุนอาจเกิดความเข้าใจผิดได้ต่อสถานะทางการเงินของบริษัทหากไม่เรียกไถ่ถอนก่อนกำหนด บริษัทจึงมักใช้สิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดและออกหุ้นกู้ Perp รุ่นใหม่มาทดแทน แม้ว่าบางครั้งอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นก็ตาม อย่างไรก็ดีในทางกฎหมายบริษัทไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องไถ่ถอนก่อนกำหนด ดังนั้นนักลงทุนจึงควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะได้รับเงินต้นคืนช้า ไม่อย่างนั้น นักลงทุนก็ต้องทำการขายในตลาดรองหากไม่ต้องการถือต่อ ซึ่งตลาดรองของหุ้นกู้ Perp มีสภาพคล่องที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้ต้องใช้เวลานานหรือขายได้ที่ราคาไม่ดีตามที่คาดหวัง

ทั้งนี้ในทางบัญชีจะถือว่าเงินทุนที่ได้จากการออก Perpetual Bond สามารถนับเป็นทุนได้ทั้งจำนวนตลอดไปถ้าระบุเงื่อนไขการชำระคืนเงินต้นให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีฉบับที่ 32 กล่าวคือ การชำระคืนเงินต้นจะเกิดจากการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการเท่านั้น ไม่รวมถึงกรณีที่ผู้ออกล้มละลาย เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ หรือถูกพิทักษ์ทรัพย์

3. สามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ยได้โดยไม่มีเงื่อนไข: ปกติตราสารหนี้ทั่วไปจะต้องจ่ายดอกเบี้ยตรงเวลาที่กำหนดไว้เสมอ แต่สำหรับ Perpetual Bond ผู้ออกมีสิทธิเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยออกไปได้แม้ว่าบริษัทจะมีกำไร ซึ่งเป็นลักษณะที่ใกล้เคียงกับหุ้นบุริมสิทธิที่ถือว่าเป็นส่วนของทุน หุ้นกู้ Perp จึงมีชื่อเป็นทางการว่า “ตราสารหนี้ด้อยสิทธิคล้ายทุน”

ทั้งนี้การเลื่อนการชำระดอกเบี้ยนี้จะทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ยของการลงทุนต่ำลง ยิ่งถ้าเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยออกไปนานเท่าไรผลตอบแทนเฉลี่ยก็จะยิ่งลดลงมากเท่านั้น แต่หากบริษัทเลื่อนชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ Perp บริษัทจะไม่สามารถจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ และการเลื่อนชำระดอกเบี้ยอาจทำให้บริษัทเสียชื่อเสียงได้ ดังนั้นถ้าบริษัทไม่มีปัญหาจริงๆ ก็น่าจะจ่ายดอกเบี้ยตรงตามเวลาที่กำหนดไว้

4. เป็นตราสารหนี้ด้อยสิทธิ: หมายความว่าหากบริษัทล้มละลาย ผู้ถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิจะมีสิทธิเรียกร้องทางกฎหมายในการได้รับชำระหนี้คืนเป็นลำดับที่ 3 ถัดจากผู้ถือตราสารหนี้มีประกัน (Secured Bond) และผู้ถือตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Bond) ดังนั้นผู้ถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิอาจได้รับการชำระคืนไม่เต็มจำนวน หรือหากบริษัทไม่มีทรัพย์สินเหลือเลย ผู้ถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิก็อาจจะไม่ได้รับเงินคืนเลย ผู้ถือ Perpetual Bonds จึงมีความเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับเงินคืนสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป

5. หุ้นกู้ Perp ไม่มีคุณสมบัติเรื่องการผิดนัดไขว้ (Cross-default) ที่มักจะกำหนดไว้ในหุ้นกู้ทั่วไป ดังนั้นหากผู้ออกมีการผิดนัดไขว้ หรือมีการผิดนัดชำระหุ้นกู้รุ่นอื่น สัญญาทางการเงินอื่น หรือ เจ้าหนี้อื่น ก็จะไม่ทำให้ผู้ออกเข้าเงื่อนไขของการผิดนัดชำระภายใต้หุ้นกู้ Perp นี้ ดังนั้น ผู้ถือหุ้นกู้ Perp จะไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ออกต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้นกู้ Perp เสียเปรียบเจ้าหนี้รายอื่นเนื่องจากเมื่อผู้ออกผิดนัดชำระหนี้เจ้าหนี้อื่น อาจทำให้เจ้าหนี้รายนั้นมาเรียกร้องให้ชำระหนี้ก่อน ที่อาจส่งผลให้ผู้ออกขาดสภาพคล่อง ผู้ถือหุ้นกู้ Perp จึงมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยโดยผู้ออกอาจทำการเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยออกไป หรืออาจมีความเสี่ยงถึงขั้นได้รับชำระเงินต้นไม่ครบจำนวนหากบริษัทต้องเลิกกิจการไป

จากลักษณะสำคัญทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า Perpetual Bond มีความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิโดยทั่วไป รวมถึงมีสภาพคล่องในตลาดรองค่อนข้างต่ำ นักลงทุนจึงควรเข้าใจถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้นเหล่านี้เพื่อจะได้พิจารณาผลตอบแทนให้คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่ได้รับ

All Blogs