Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Mar 17, 2020
มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 กับตราสารหนี้ (ตอนที่ 2)

หากการจัดประเภทและวัดมูลค่าของตราสารหนี้ที่ถือครองเป็นแบบ ราคาทุนตัดจำหน่าย (Amortized Cost- AC) หรือ มูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (Fair Value through Other Comprehensive Income - FVOCI) ก็จะทำให้กิจการต้องมีการตั้งสำรองเผื่อการด้อยค่าทางบัญชี ซึ่งเป็นอีกส่วนที่มีการปรับปรุงภายใต้มาตรฐานบัญชี TFRS 9

การด้อยค่าเกิดจากการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของตราสารหนี้ที่ลงทุนว่ามีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากวันที่รับรู้ครั้งแรกเมื่อเริ่มลงทุนหรือไม่ โดยการเปลี่ยนแปลงของความเสี่ยงด้านเครดิตจะถูกแบ่งออกเป็น 3 stage เริ่มจาก

o stage 1 หมายถึง ความเสี่ยงด้านเครดิตยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

o stage 2 หมายถึง ความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และ

o stage 3 หมายถึง ความเสี่ยงด้านเครดิตมีหลักฐานการด้อยค่าที่เป็นรูปธรรม

แล้วอะไรคือเครื่องบ่งชี้ว่า ความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ? TFRS 9 ก็ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนถึงปัจจัยที่ต้องพิจารณา จากการศึกษาทบทวนหลักเกณฑ์การพิจารณาในต่างประเทศพบว่า สามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือปัจจัยในเชิงปริมาณ เช่น อัตราส่วนสำคัญทางการเงิน เป็นต้น และปัจจัยเชิงคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่จะกระทบการดำเนินงานของผู้ออกตราสารหนี้ อันดับความน่าเชื่อถือและข้อมูลการคาดการณ์ในอนาคตอย่างสภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การประเมินการเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงด้านเครดิตจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ลงทุนเป็นสำคัญที่ต้องอธิบายให้ได้ว่าปัจจัยที่นำมาประกอบการวิเคราะห์มีความเหมาะสมและเชื่อถือได้

ส่วน stage ที่เปลี่ยนไปจะส่งผลต่อการรับรู้ผลขาดทุนด้านเครดิต หรือ ค่าเผื่อการด้อยค่า (Expected Credit Losses - ECL) ซึ่งหากเป็น stage 1 จะเป็นการตั้งสำรอง 12 เดือนข้างหน้า (12-Month ECL) แต่หากเป็น stage 2 และ 3 จะเป็นการตั้งสำรองตลอดอายุของตราสารหนี้ (Lifetime ECL) โดยค่าเผื่อการด้อยค่าที่ผู้ลงทุนตราสารหนี้ต้องตั้งสำรองคำนวณมาจากองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน คือ

 โอกาสของการผิดนัดชำระ (Probability of Default - PD)

 ค่าความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการผิดนัดชำระ (Loss Given Default - LGD) และ

 ยอดหนี้หรือประมาณการยอดหนี้เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระ (Exposure At Default - EAD)

หรือสรุปสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ยิ่งความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้น จะทำให้ต้องตั้งค่าเผื่อการด้อยค่ามากขึ้นด้วย และเมื่อทราบว่าความเสี่ยงด้านเครดิตอยู่ที่ระดับใด รวมถึงรู้ว่าจะต้องตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าเท่าไรแล้ว ก็จะสามารถคำนวณการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยทางบัญชีได้

ทั้งนี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ได้ทำการศึกษาและหารือกับผู้ร่วมตลาดจนได้แนวทางและเครื่องมือไว้ใช้คำนวณค่าเผื่อการด้อยค่า (ECL) สำหรับผู้เกี่ยวข้องที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่อาจจะมีทรัพยากรและเครื่องมือจำกัดเพื่อเป็นทางเลือกในการนำไปใช้

โดยสรุป เมื่อพิจารณาเผินๆ การปรับมาใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 ดูจะเป็นการสร้างต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเพิ่มความซับซ้อนในการทำบัญชี แต่จริงๆ แล้วการปรับปรุงดังกล่าวเป็นการป้องกันและเตรียมพร้อมต่อความเสียหายทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น ทำให้ผู้ลงทุนตราสารหนี้รับรู้ก่อนและสามารถรับมือกับความเสียหายได้ทัน เสมือนเหตุการณ์ไฟใหม้ที่หากมีการติดตั้งเครื่องตรวจจับควันไฟและสปริงเกอร์พ่นน้ำ ก็จะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

สำหรับแนวทางการพิจารณาและแนวทางการคำนวณที่เกี่ยวข้องกับ TFRS 9 สามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ ThaiBMA ภายใต้หัวข้อ TFRS 9

All Blogs