Rules / Regulations

คำถาม คำตอบ หลักเกณฑ์สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

รวบรวมถึงวันที่ 18 มีนาคม 2564

แนวปฏิบัติในการขายทอดตลาดหลักประกันที่เป็นตราสารหนี้
(อ้างอิง : แนวปฏิบัติในการขายทอดตลาดหลักประกันที่เป็นตราสารหนี้)  

1.ผู้ทอดตลาดเป็นใครได้บ้าง
ผู้ทอดตลาดสามารถเป็นบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเป็นผู้บังคับหลักประกันตราสารหนี้
2.ช่องทางการส่งคำสู้ราคาสามารถกำหนดได้ กี่ช่องทาง
สามารถกำหนดกี่ช่องทางก็ได้ แต่ต้องสามารถบันทึกการส่ง คำสู้ราคาและลำดับเวลาได้
3.การกำหนดวันชำระราคาและส่งมอบหลักประกันที่เป็นตราสารหนี้ (Settlement Date) ผู้ทอดตลาดควรกำหนดอย่างไร
ผู้ทอดตลาดควรกำหนดวันชำระราคาและส่งมอบหลักประกันที่เป็นตราสารหนี้ (Settlement Date) ให้ชัดเจน โดยระบุไว้ในประกาศการขายทอดตลาด ซึ่งจะต้องมีการเผยแพร่ล่วงหน้าก่อนวันขายทอดตลาด
4.การรายงานข้อมูลซื้อขายตราสารหนี้จากการขายทอดตลาดต่อ ThaiBMA ต้องดำเนินการอย่างไร
สมาชิกต้องรายงานข้อมูลการซื้อขายตราสารหนี้ โดยระบุวัตถุประสงค์เป็น OTH

การจัดเก็บบันทึกเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายตราสารหนี้
(อ้างอิง : ประกาศคณะกรรรมการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เรื่องการจัดทำและเก็บบันทึกเอกสาร ฉบับที่ 2 พ.ศ.2563 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563)  

1.สมาชิกต้องจัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายตราสารหนี้ตามที่กําหนดไว้เป็นเวลาเท่าไร
นับจากวันที่มีการซื้อขาย สมาชิกต้องจัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายตราสารหนี้ตามที่กําหนดไว้เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี โดยในระยะเวลา 2 ปีแรกต้องจัดเก็บในลักษณะที่พร้อมให้สมาคมเรียกดูทันที
2.การซื้อขายที่มีการเจรจาติดต่อผ่านทางโทรศัพท์หรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สมาชิกต้องจัดให้มีการบันทึกเทปและสื่ออิเล็กทรอนิกส์จัดเก็บเทปและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไว้เป็นเวลาเท่าไร
สมาชิกต้องจัดเก็บเทปและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายตราสารหนี้ตามที่กําหนดไว้เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือนหรือขยายเวลาการจัดเก็บออกไปตามที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนด
3.หากมีการเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือยกเลิกรายการซื้อขายจะต้องมีข้อมูลใดบ้าง
1) วันและเวลาที่เปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือยกเลิกรายการซื้อขาย
2) รายละเอียดและสาเหตุของการเปลี่ยนแปลง แกัไข หรือยกเลิกรายการซื้อขาย
3) ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากคําสั่งของลูกค้า / คู่ค้า หรือจากสมาชิก
4.เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการซื้อขายตราสารหนี้ จะต้องมีข้อมูลใดบ้าง
1) วันและเวลาที่ตกลงซื้อขาย
2) ชื่อ จํานวนและมูลค่าของตราสารหนี้ที่ซื้อขาย
3) ราคา และ/หรืออัตราผลตอบแทนของการซื้อขาย
4) วันชําระราคาและส่งมอบ
5) ชื่อหรือเลขประจําตัวของผู้ค้าตราสารหนี้ที่ทํารายการ
6) ชื่อลูกค้า คู่ค้า
7) วัตถุประสงค์ของการซื้อขายว่าเป็นการซื้อขายตามปกติ (Outright) หรือการซื้อขายโดยมีสัญญาซื้อคืน (Repo) หรือการซื้อขายเพื่อวัตถุประสงค์อื่น
8) อัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาก้ยืม (ถ้ามี)
9) สัญญาซื้อคืน (ถ้ามี)
10) วิธีการซื้อขายเช่น โทรศัพท์ ระบบซื้อขายอิเล็กทรอนิกส์ Inter-dealer วันและเวลาที่ตกลงซื้อขาย

ลักษณะการปฏิบัติที่มิชอบของสมาชิก
(อ้างอิง : ประกาศคณะกรรรมการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เรื่อง ลักษณะประพฤติมิชอบของสมาชิก ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551)  

1.ลักษณะของข้อมูลหรือการกระทำแบบใดที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาซื้อขาย และ/หรือสภาพคล่องของตราสารหนี้
1) ข้อมูลเกี่ยวกับการปรับระดับความน่าเชื่อถือของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยที่สมาชิกได้ล่วงรู้ หรืออาจล่วงรู้ หรือได้รับการบอกกล่าวจากบุคคลวงในที่เกี่ยวกับการปรับระดับความน่าเชื่อถือของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการตัดสินใจซื้อหรือขายตราสารหนี้ก่อนที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะประกาศให้บุคคลทั่วไปได้ทราบ
2) ข้อมูลเกี่ยวกับลูกหนี้สินเชื่อของธนาคาร โดยหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อของธนาคารได้บอกกล่าวเผยแพร่หรือเปิดเผยข้อมูลภายในของลูกค้าสินเชื่อซึ่งเป็นผู้ออกตราสารหนี้ไปยังหน่วยงานค้าตราสารหนี้เพื่อนำไปใช้ในการซื้อขายตราสารหนี้
2.Mark the close คือพฤติกรรมแบบใด
การรายงานข้อมูลการซื้อขายตราสารหนี้ใกล้เวลาปิดของตลาดบ่อยครั้ง โดยต้องการให้ข้อมูลรายงานการซื้อขายตราสารหนี้ถูกพิจารณานำไปใช้เป็นราคาปิดของตราสารหนี้
3.Excessive Markups / Markdowns คือพฤติกรรมแบบใด
การซื้อตราสารหนี้จากลูกค้าในราคาที่ต่ำเกินควรหรือการขายตราสารหนี้ให้แก่ลูกค้าในราคาที่สูงเกินควร โดยพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อม เช่น ประเภทของตราสารหนี้ สภาพคล่องของตราสารหนี้ ปริมาณการซื้อขาย ข้อจำกัดทางกฎหมายการถือครอง อันดับเครดิตของผู้ออกตราสาร อันดับเครดิตของตราสาร สภาวะของตลาดตราสารหนี้ขณะที่ทำธุรกรรม
4.Price and Volume manipulation คือพฤติกรรมแบบใด
การค้าตราสารหนี้ที่ทำให้ราคาซื้อขาย หรือปริมาณการซื้อขายของตราสารหนี้ หรือดัชนีตราสารหนี้ (Bond Index) สูงขึ้นหรือลดลงผิดไปจากสภาพปกติของตลาดอย่างมีนัยสำคัญ
5.นิยามและลักษณะของรายการที่เข้าข่ายการสร้างปริมาณการซื้อขาย (Volume Manipulation) ประกอบด้วยอะไรบ้าง
1.การซื้อขายในลักษณะวนกลับ (A>B>A) โดยมีการขายและซื้อกลับ หรือ ซื้อและขายกลับ ใน Yield เดียวกันของตราสารตัวเดียวกันกับคู่ค้ารายเดิม และมี Settlement เดียวกัน
2.การซื้อขายที่มีลักษณะไม่วนกลับ (A>B>C) โดยมีการซื้อและขายใน Yield เดียวกันของตราสารเดียวกันกับคู่ค้าคนละราย
3.การซื้อขายที่มีลักษณะขายและซื้อคืนแบบ Financing แต่รายงานเป็น Outright
6.การรายงานที่ถูกต้อง เพื่อที่จะไม่ถือว่าเข้าข่ายการสร้าง Volume ต้องรายงานอย่างไร
1) กรณีการทำ Outright ในลักษณะเป็นตัวกลางในการย้ายกองของกองทุนรวม บริษัทประกัน หรือ การย้ายพอร์ทภายในของ dealer รายอื่น (A>B>A) Dealer ผู้รายงานทั้งสองฝ่ายต้องระบุหมายเหตุ (remark) ว่า “SWP” ทั้งรายการขาซื้อและขาขาย โดยหากมีการแตกออกเป็นกองย่อยๆให้ระบุหมายเหตุ (remark) ว่า “SWP” ให้ครบทุกรายการย่อย
2) กรณีเป็นตัวกลางในการผ่านดีล ซึ่งอาจเกิดจากคู่ค้าสองฝ่ายติด credit line ระหว่างกัน (A>B>C) Dealer ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางผ่านดีลต้องระบุหมายเหตุ (remark) ว่า “SWP” ทั้งรายการขาซื้อและขาขาย ในขณะที่ Dealer ผู้ขาย (A) และ Dealer ผู้ซื้อ (C) ไม่ต้อง remark เพราะถือว่ามีเจตนาการซื้อขายจริง
3) กรณีขายให้คู่ค้าจากการได้รับฝากประมูล คู่ค้าทั้งสองฝ่ายต้องระบุ sub-purpose ว่า “OUTA”
4) กรณีรายการ Financing สำหรับธุรกรรม Bilateral repo ที่ทำกับ ธปท. ให้รายงาน purpose เป็น FINB และสำหรับธุรกรรม Private repo ให้รายงานเป็น FINP ซึ่งรายการ Financing จะรายงานเฉพาะขาแรกเท่านั้น แต่ระบุ term และ rate มาให้ชัดเจน
5) รายการอื่นใดที่มีการตกลงกันในลักษณะ sell and buy back แต่อาจไม่ใช่ FINB หรือ FINP ให้รายงาน purpose เป็น FIN โดยระบุ term และ rate และรายงานเฉพาะธุรกรรมขาแรกเท่านั้น
7.Improper Bid offer คือพฤติกรรมแบบใด
การเสนอซื้อหรือเสนอขายตราสารหนี้โดยระบุราคาเสนอซื้อหรือเสนอขายที่ตามปกติแล้วไม่น่าจะทำให้เกิดราคาซื้อขายได้

มาตรฐานการปฏิบัติงานในตลาดตราสารหนี้
(อ้างอิง : ประกาศคณะกรรมการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เรื่อง มาตรฐานการปฏิบัติงานในตลาดตราสารหนี้ ประกาศ ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2548)  

1.การเสนอ “ราคาซื้อขายตราสารหนี้” ให้กับลูกค้า/คู่ค้า ผู้ค้าตราสารหนี้มีหน้าที่ใดบ้าง
หมายเหตุ “ราคาซื้อขายตราสารหนี้” หมายถึง ราคาหรืออัตราผลตอบแทนจากการซื้อขายตราสารหนี้
1) ต้องระบุให้ชัดเจนว่าราคาซื้อขายตราสารหนี้ที่เสนอดังกล่าวเป็นราคาที่ต้องการซื้อขายจริง (Firm) หรือเป็นเพียงราคาชี้นํา (Indicative) ถ้ามิได้ระบุ ให้ถือว่าราคาที่เสนอนั้นเป็นเพียงราคาชี้นํา (Indicative)
2) ผู้ค้าตราสารหนี้ ต้องพร้อมที่จะตกลงซื้อขายกับลูกค้า/คู่ค้าตามเงื่อนไขที่กําหนดและตามจํานวนมาตรฐาน
2.การยืนยันการซื้อขายตราสารหนี้ของผู้ค้าตราสารหนี้กับลูกค้า/คู่ค้า ต้องมีข้อมูลใดบ้าง
1) ชื่อลูกค้า / คู่ค้า
2) ชื่อผู้ค้าตราสารหนี้
3) ชื่อ จํานวนและมูลค่าของตราสารหนี้ที่ซื้อขาย
4) ราคาและ/หรืออัตราผลตอบแทนของการซื้อขาย
5) วันและเวลาที่ตกลงซื้อขาย และวันชำระราคาและส่งมอบ
3. “เวลาที่ตกลงซื้อขาย” (Trade Time) หรือ (Time of Execution) คือเวลาใด
เวลาที่สมาชิกได้ตกลงซื้อขายกับลูกค้า / คู่ค้า โดยเป็นที่ยอมรับข้อตกลงการซื้อขายทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าโดยวิธีการซื้อขายแบบใด ซึ่งไม่ใช่เวลาที่สมาชิกและ/หรือ ลูกค้า/ คู่ค้า ได้รับแจ้ง ยืนยันการซื้อขายเป็นลายลักษณ์อักษร
4.ในกรณีที่สมาชิกมีการกำหนดวงเงินซื้อขายตราสารหนี้ให้กับลูกค้า/คู่ค้าแต่ละราย สมาชิกต้องทำอย่างไร
สมาชิกต้องจัดให้มีระบบตรวจสอบวงเงินของลูกค้า / คู่ค้าแต่ละรายทุกครั้งก่อนดําเนินการซื้อขาย

การรายงานธุรกรรมประเภทต่างๆ 

1. ธุรกรรมซื้อขายพันธบัตรที่มีการประมูล (Auction Date) ต้องรายงานอย่างไร
• กรณีที่ประมูลได้จากธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ถือเป็นตลาดแรก “ไม่ต้อง”รายงานข้อมูล
• กรณีที่มีการฝากประมูล ธุรกรรมที่ขายกลับไปให้ผู้ฝากประมูลให้รายงานโดยระบุ Purpose เป็น OUT และ Subpurpose เป็น OUTA
2. ธุรกรรมการซื้อขายที่ถือว่าเป็นธุรกรรม Forward ต้องมี Settlement Date จากวันที่ซื้อขายเกินกว่ากี่วันทำการ (T+?) และต้องรายงานการซื้อขายอย่างไร
ต้องเกินกว่า 4 วันทำการ กล่าวคือ ตั้งแต่ T+5 เป็นต้นไป และให้รายงาน Purpose เป็น OTH และรายงาน Subpurpose เป็น DERFW
เนื่องจาก Yield ที่ตกลงซื้อขายและส่งมอบภายใน 4 วันทำการส่วนใหญ่จะเป็น Yield ที่ยังคงสะท้อนภาวะตลาดปัจจุบัน (Spot) แต่อาจเป็นเพราะการใช้เวลาเกี่ยวกับทางด้าน Operation
แต่หากเกินกว่า 4 วันทำการ Yield ที่ทำการซื้อขายอาจไม่สะท้อนภาวะตลาดปัจจุบันและไม่เหมาะที่จะนำไปใช้อ้างอิง รวมถึงไม่เหมาะที่จะพิจารณาเป็น Mark to Market หากรายงานเป็น Outright อาจทำให้ผู้ร่วมตลาดเกิดความเข้าใจผิดได้
3. การรายงานธุรกรรม Financing ทุกประเภท ต้องรายงานทั้งขาแรกและขาหลังหรือไม่
ให้รายงานเฉพาะธุรกรรมขาแรกเท่านั้น โดยระบุระยะเวลาการกู้ยืม (Financing Term – วัน) แทนการรายงานขาหลัง ผู้รายงานจึงไม่ต้องกังวลหรือมีภาระที่จะต้องรายงานธุรกรรมขาหลังเพิ่มเติม
4. ธุรกรรม Repo ที่กู้ยืมเป็นเงินตราต่างประเทศ ต้องรายงานข้อมูลหรือไม่
ไม่ต้องรายงานมายังสมาคม ให้รายงานเฉพาะการกู้ยืมเป็นเงินบาทเท่านั้น เนื่องจาก ธุรกรรม Repo ที่กู้ยืมเป็นเงินตราต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ยจะเป็นของสกุลเงินนั้นๆ และอาจมีเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่นอกเหนือการนำข้อมูลมาใช้อ้างอิง และเพื่อลดภาระการรายงานข้อมูล
5. ธุรกรรม Repo ที่ใช้ตราสารหนี้ที่ “ไม่ได้” ขึ้นทะเบียนกับสมาคมเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน จะต้องรายงานข้อมูลหรือไม่
ไม่ต้องรายงานมายังสมาคม เนื่องจาก สมาคมไม่มีข้อมูลของตราสารหนี้ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจึงไม่สามารถทราบลักษณะของตราสารหนี้เพื่อนำมาใช้ประมวลผลหรือวิเคราะห์หลักประกันได้ ยกเว้น เป็นรายการกู้ยืมระหว่าง BOT กับ Primary Dealer ที่ใช้ BOT Notes (BOTN) (ซึ่งไม่ใช่ตราสารหนี้ขึ้นทะเบียนกับสมาคม) เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ต้องรายงานรายการมายังสมาคมด้วย
6. ธุรกรรมประเภท Derivative Options (DEROP) ต้องรายงานเมื่อใด วันที่ write Options หรือวันที่ exercise Options
ให้รายงาน ณ วันที่ exercise Options เนื่องจาก จะมีการเปลี่ยนมือการถือครองตราสารหนี้เกิดขึ้น
การรายงานข้อมูลการซื้อขายตราสารหนี้ประเภทต่างๆ
1. วิธีการรายงานอัตราผลตอบแทนและราคาซื้อขาย (Yield and Price) มีกี่แบบ
มี 3 แบบ
1. กรณีซื้อขายตราสารหนี้ที่สามารถคำนวณเป็น Yield % (YTM) ได้ ให้รายงานเป็น Yield
2. กรณีซื้อขายตราสารหนี้ที่ไม่สามารถคำนวณเป็น Yield % (YTM) ได้ ให้รายงานเป็นราคาซื้อขายแบบ Gross Price เป็นร้อยละของ Current Par โดยไม่ต้องรายงาน Yield
3. กรณีซื้อขายตราสารหนี้ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate Notes -FRN) ให้รายงานเป็น DM % (Discounted Margin)
2. การซื้อขายตราสารประเภท Perpetual ต้องรายงานอย่างไร
รายงานโดยระบุราคา Gross Price เป็นร้อยละของ Current Par โดยไม่ต้องใส่ Yield
3. การซื้อขายตราสารที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Denominated Bond : FX) ต้องรายงานอย่างไร
รายงานโดยระบุราคา Gross Price เป็นร้อยละของ Current Par โดยไม่ต้องใส่ Yield
4. การซื้อขายตราสารประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ที่เข้างวดสุดท้ายในการชำระดอกเบี้ย ต้องรายงานอย่างไร
ให้ระบุ Yield แบบ YTM เนื่องจาก ได้มีการกำหนด Coupon ในงวดสุดท้ายไว้ก่อนหน้าแล้ว จึงเสมือนเป็นตราสารประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่
5. การซื้อขายตราสารประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอ้างอิง THOR Rate ต้องรายงานอย่างไร
ตราสารที่อ้างอิง THOR Rate ทุกรุ่นและทุกช่วงอายุ ให้รายงาน Yield แบบ DM ตลอดอายุตราสารแม้จะเข้าสู่งวดสุดท้ายก็ตาม ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ THOR ได้ที่ http://www.thaibma.or.th/EN/Rule/convention.aspx ภายใต้หัวข้อ (4) BOT THOR Floating Rate Notes (BOTF) calculation convention
การรายงานข้อมูลการซื้อขายตั๋วแลกเงิน (B/E)
1. ตั๋วแลกเงิน (B/E) ที่เข้าเกณฑ์รายงานข้อมูลการซื้อขายมายังสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ได้แก่ ตั๋วแลกเงินประเภทใด
ตั๋วแลกเงิน (B/E) ที่ถือเป็นหลักทรัพย์ ซึ่งไม่รวมถึง ตั๋วแลกเงิน (B/E) ที่ออกเพื่อชําระหนี้การค้า ตั๋วแลกเงิน (B/E) ที่สถาบันการเงินเป็นผู้สั่งจ่าย ผู้ออก ผู้รับอาวัล เป็นต้น
2. หากมีการทำธุรกรรมตั๋ว B/E ตั้งแต่มีการออกตราสาร ต้องรายงานข้อมูลหรือไม่ และมีหลักเกณฑ์อย่างไร
• กรณีตั๋ว B/E ออกจาก Issuer และบันทึกเข้าพอร์ตของ Dealer ถือเป็นธุรกรรมตลาดแรก ไม่ต้องรายงานข้อมูล
• กรณีตั๋ว B/E ออกจาก Issuer และบันทึกเข้าพอร์ตของ Dealer
  - หากมีการขายออกไป ก่อน Issue date ให้ถือเป็นตลาดแรก ไม่ต้องรายงานข้อมูล
  - หากมีการขายออกไป ตั้งแต่ Issue date เป็นต้นไปให้ถือเป็นธุรกรรมตลาดรอง ต้องรายงานข้อมูลมายังสมาคม
การรายงานธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Bond Switching
1. กรณี ลูกค้า/คู่ค้า ฝากทำ Bond Switching ต้องรายงานอย่างไร
ให้ถือว่าการฝากจากลูกค้า/คู่ค้าเสมือนเป็นการฝากประมูล โดยหากลูกค้า/คู่ค้ามีการขาย Source Bond (SB) ให้กับสมาชิก หรือสมาชิกขาย Destination Bond (DB) ให้กับลูกค้า/คู่ค้าตามที่ฝากแลกมา สมาชิกจึงต้องรายงานธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า/คู่ค้าเป็นการฝากประมูล (OUTA) ด้วย (ตามลูกศร 1 และ 4)
ทั้งนี้ หาก SB ที่ลูกค้า/คู่ค้าฝากไปแลก DB แต่แลก DB ได้มาบางส่วนหรือไม่ได้เลย จึงต้องขาย SB คืนแก่ลูกค้า/คู่ค้าที่ฝากแลกตามราคาที่ตกลงกันไว้นั้น ให้สมาชิกรายงานธุรกรรมส่วนนี้โดยระบุ Purpose เป็น OTH และ Subpurpose เป็น OTH เนื่องจากถือเป็นรายการ Pre-arrange Trade ซึ่งมักเป็นรายการที่มี Yield แตกต่างจากภาวะตลาดขณะนั้น และไม่เหมาะสมที่จะนำมาพิจารณาเป็น Mark to Market
ในส่วนที่สมาชิกนำ SB ไปแลกกับ สบน. ให้ถือเป็นการไถ่ถอนจากผู้ออก และการได้รับ DB จาก สบน. ให้ถือเป็นการได้พันธบัตรจากการประมูลซึ่งถือเป็นตลาดแรก จึงไม่ต้องรายงานการซื้อขายในส่วนนี้ (ตามลูกศร 2 และ 3)
2. กรณี Dealer ทำ Bond Switching เพื่อค้า/ เพื่อตนเอง ต้องรายงานอย่างไร
ให้ถือเป็นทางค้าปกติทั่วไป เป็นการหาซื้อหรือขายตราสารหนี้กันในตลาดรอง ให้สมาชิกรายงานธุรกรรมเป็นการซื้อขายปกติ (OUT) (ตามลูกศร 1 และ 4) ในส่วนที่สมาชิกนำ SB ไปแลกกับ สบน. ให้ถือเป็นการไถ่ถอนจากผู้ออก และได้รับ DB จาก สบน. ให้ถือเป็นการได้พันธบัตรจากการประมูลซึ่งถือเป็นตลาดแรก จึงไม่ต้องรายงานการซื้อขายในส่วนนี้ (ตามลูกศร 2 และ 3)