ผลตอบแทนของ Green bond ต่างจากตราสารหนี้ทั่วไปหรือไม่
  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Nov 21, 2018
Solar Bond ตราสารหนี้พลังงานแสงอาทิตย์

Solar Bond คือ ตราสารหนี้ที่ออกเพื่อระดมเงินทุนไปใช้ในโครงการพลังงานทดแทนประเภทแสงอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นประเภทหนึ่งของตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) ที่ได้กล่าวไปในบทความก่อนหน้านี้ (“ตราสารหนี้สีเขียวกับการเติบโตอย่างยั่งยืน”) โดยวันนี้เราจะมาเล่าถึงความสำเร็จของการออก Solar Bond ของประเทศญี่ปุ่น และโอกาสของการนำมาปรับใช้ในประเทศไทย

Solar Bond ในประเทศญี่ปุ่น

ในปี 2011 ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ระเบิดที่เมืองฟูกุชิมะ รัฐบาลจึงเริ่มมีนโยบายส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานและลดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออก Feed in Tariff Program (Fit) เพื่อจูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนโดยภาครัฐจะรับซื้อกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ในอัตราที่ค่อนข้างสูงซึ่งจะถูกกำหนดจาก Feed in Tariff Program เพื่อดึงดูดให้เอกชนหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวได้รับความสนใจในการลงทุนโดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ (Solar Farm) จากภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่รวมถึงภาคเอกชนของไทย

Solar Farm แต่ละโครงการในประเทศญี่ปุ่นมีขนาดไม่ใหญ่และกระจายตัวอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ การระดมทุนเพื่อใช้ลงทุนที่ผ่านมา มักจะพึงพาการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก การพิจารณาให้สินเชื่อก็จะขึ้นอยู่กับความเชื่อใจที่เกิดขึ้นจากความคุ้นเคยหรือความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน กลุ่มธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำธุรกิจในพื้นที่นั้นก็อาจเกิดความติดขัดในการขอสินเชื่อได้ นอกจากนี้ สินเชื่อที่ได้รับมักคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวเนื่องจากระยะเวลาคืนทุนของโครงการค่อนข้างยาว ในขณะที่รายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับหน่วยงานรัฐจะค่อนข้างมีความแน่นอน นั่นคือมีการกำหนดราคารับซื้อต่อหน่วยไว้แล้วและปริมาณไฟฟ้าที่จะขายก็คาดการณ์ได้เนื่องจากเทคโนโยลีการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ค่อนข้างจะก้าวหน้า ดังนั้นความเสี่ยงหนึ่งที่สำคัญของโครงการคือ Mismatch ระหว่างต้นทุนเงินกู้กับรายได้ หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับตัวสูงขึ้น อาจส่งผลให้บริษัทมีกำไรน้อยลงหรือขาดทุนได้ ระดมทุนในรูปแบบของตราสารหนี้

เพื่อที่จะแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิด Mismatch ระหว่างต้นทุนเงินกู้กับรายได้และการพึ่งพาเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์ Goldman Sachs Japan ได้นำการระดมทุนในรูปแบบของตราสารหนี้เพื่อใช้ในโครงการ Solar Farm ด้วยการออก Solar Bond เป็นครั้งแรกในปี 2013 โดยการนำโครงการ Solar Farm ที่มีศักยภาพการผลิตในระดับเดียวกันและมีขนาดเล็กหลายแห่งมารวมกันเพื่อให้มีขนาดที่ใหญ่พอในการออก Solar Bond แต่ละครั้ง จากนั้นก็จัดตั้ง Bond Trust เพื่อออก Solar Bond –ขายให้แก่นักลงทุน เงินทุนที่ได้จะนำไปใช้ลงทุนโครงการ Solar Farm ซึ่งทำให้ผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) สามารถล็อคต้นทุนการกู้ยืมรวมถึงขยายระยะเวลากู้ยืมให้เหมาะสมกับระยะเวลาคืนทุน ไม่ให้เกิด Maturity Mismatch นอกจากนี้ Bond Trust ยังทำหน้าที่ในการดูแลผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจาก Solar Farm ต่างๆ แทนนักลงทุน โครงสร้างการออก Solar Bond นี้ นอกจากทำให้บริษัทผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์สามารถบริหารต้นทุนทางการเงินในระยะยาวได้แล้ว ยังช่วยให้บริษัทขนาดเล็กสามารถเข้าถึงตลาดทุนได้ด้วย ในด้านของนักลงทุน ก็มีสินทรัพย์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนคงที่ในระยะยาวแถมความเสี่ยงต่ำ เป็นทางเลือกในการลงทุนเพิ่มขึ้นมาจากพันธบัตรรัฐบาล โดยในปัจจุบัน Solar Bond Trust ในญี่ปุ่นมีมูลค่ากว่า 65,000 ล้านเยน และมีอายุเฉลี่ยที่ 16.5 ปี

มองย้อนกลับมาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนในไทย

อุตสาหกรรมผลิตพลังงานทดแทนของประเทศไทยมีโครงสร้างรายได้กับต้นทุนการเงินที่ Mismatch คล้ายกับประเทศญี่ปุ่น กล่าวคือ มีรายได้ขายไฟฟ้าที่คงที่จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ส่วนเงินทุนที่ใช้โครงการ Solar Farm ส่วนใหญ่มาจาก Bank loan และมักเป็นดอกเบี้ยลอยตัวที่ MLR นอกจากนี้ ระยะเวลาคืนทุนของ Solar Farm บางโครงการอาจมากกว่า 10 ปี ประกอบกับปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของไทยมีแนวโน้มเป็นทิศทางขาขึ้น จึงอาจมีผลต่อต้นทุนการกู้เงินของกิจการในอนาคตได้ โครงสร้างการออก Solar Bond จึงอาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับบริษัทผู้ผลิตและนักลงทุนดังที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากประเทศญี่ปุ่น

Green bond

All Blogs