Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Mar. 19, 2019
ถอดบทเรียนจากญี่ปุ่นแล้วย้อนมองไทยการออมเพื่อเตรียมเกษียณ (ตอนที่ 2)

จากครั้งที่แล้วโครงการ NISA ทั้ง 3 โครงการของรัฐบาลญี่ปุ่นสะท้อนให้เห็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของงบประมาณอุดหนุนผู้สูงอายุในระยะยาว ประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญหน้าปัญหาที่คล้ายคลึงกัน คือ จำนวนประชากรผู้สูงอายุสูงขึ้นและเงินออมมีแนวโน้มไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายยามเกษียณ โดยบทเรียนจากญี่ปุ่นบ่งชี้ว่าการเริ่มต้นออมเริ่มต้นลงทุนในระดับบุคคลเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรพึงกระทำ เพราะการที่จะหวังพึ่งคนในครอบครัวหรือการอุดหนุนจากรัฐบาล อาจจะไม่เพียงพอและไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ภายในปี2564 นอกจากนี้อัตราส่วนการเกื้อหนุนผู้สูงอายุ หรือ จำนวนคนในวัยทำงานต่อการดูแลผู้สูงอายุหนึ่งคน ก็มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากจำนวนคนวัยทำงาน 5.7 คนต่อผู้สูงอายุหนึ่งคนในปี2553 จะลดลงเหลือจำนวนคนวัยทำงานเพียง 2.4 คนต่อผู้สูงอายุหนึ่งคนในปี 2573 ดังนั้นความคิดที่จะหวังพึ่งพาคนในครอบครัวก็อาจจะเป็นเรื่องยากตามโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป

ด้านสถานการณ์การออมของคนไทยก็อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ร้อยละ 80 ของผู้มีเงินได้ มีเงินออมไม่พอใช้สำหรับ 6 เดือน นอกจากนี้รูปแบบการถือครองทรัพย์สินของครัวเรือนไทยยังอยู่ในรูปแบบเงินสดและเงินฝากมากถึง 94% ของทรัพย์สินทั้งหมดและมีการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เพียง 1% เท่านั้น ดังนั้นการจะเพิ่มพูนเงินออมให้งอกเงยและเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในอนาคตช่วงวัยเกษียณจึงเป็นความท้าทายที่สำคัญ

จากบทเรียนของประเทศญี่ปุ่น และบริบทของประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่าโครงการที่จูงใจให้เกิดการออมเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างไรก็ดี กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่จูงใจให้ลงทุนผ่านการให้สิทธิลดหย่อนภาษีกำลังจะหมดลงในปีนี้ ในขณะที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ไม่ได้รับความนิยมมากนักด้วยเงื่อนไขที่ค่อนข้างจะเข้มงวดโดยเฉพาะกับผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงาน ดังนั้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมระยะยาวตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นชีวิตการทำงานจึงควรมีโครงการส่งเสริมการออมระยะยาวทดแทนกองทุน LTF ที่กำลังจะหมดลง เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่น

โครงการส่งเสริมการออมระยะยาวรูปแบบใหม่นี้ อาจให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีในลักษณะเดียวกับ LTF แต่กำหนดช่วงเวลาการลงทุนให้นานขึ้น เช่น 10 ปีปฏิทินเพื่อมุ่งให้เป็นการออมในระยะยาวโดยอาจลดวงเงินลดหย่อนเหลือ 100,000 บาทต่อปีสอดคล้องกับข้อมูลที่พบว่าจำนวนผู้ที่ซื้อ LTF กว่า 60% ซื้อไม่เกิน100,000 บาทต่อปีและควรมีอีกโครงการที่ส่งเสริมการออมเพื่อผู้เยาว์เหมือน Junior NISA ในญี่ปุ่นเพื่อส่งเสริมให้ผู้ปกครองได้วางแผนการออมระยะยาวให้บุตรหลาน ซึ่งจะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในการศึกษาของบุตรในอนาคต และเพิ่มโอกาสให้เยาวชนได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นจากการวางแผนการออมระยะยาวของผู้ปกครอง โดยอาจจำกัดยอดเงินลงทุนสำหรับลดหย่อนภาษีไว้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีเท่ากัน

ด้านสินทรัพย์ลงทุน ควรมีการกระจายความเสี่ยง โดยลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภทเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว มากกว่าการหวังผลตอบแทนสูงที่ตามมาด้วยความเสี่ยงสูง ดังนั้น กองทุนรวมแบบผสม น่าจะตอบโจทย์เป้าหมายการออมการลงทุนระยะยาวนี้ โดยหากมีการจัดตั้งกองทุนผสมประเภทนี้หลายๆกองทุนและมีความหลากหลายของสินทรัพย์ ก็สามารถจัดสรรการลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงและช่วงอายุได้

การลงทุนมีความเสี่ยง แต่การไม่ออมและไม่ลงทุนมีความเสี่ยงยิ่งกว่าทั้งในระดับบุคคลและประเทศชาติ โดยบทเรียนนี้เกิดขึ้นแล้วกับประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น การมีแนวทางเพื่อส่งเสริมการออมการลงทุนระยะยาวจึงน่าจะมีส่วนช่วยให้เกิดความสุขในยามเกษียณของคนไทยและสมกับความเชื่อดั้งเดิมของคนไทยที่ว่า คนอายุยืนเป็นคนมีบุญ

All Blogs