Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Jan. 07, 2018
มูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้ หาได้จากไหน?

Bond&Ben ได้รับคำถาม Inbox เข้ามามากมาย น่าสนใจทุกคำถาม ทำให้รู้ว่านักลงทุนมีความสนใจตราสารหนี้ในมุมมองต่าง ๆ กันไม่น้อยเลย คำถามหนึ่งที่ถามกันมามากคือตราสารหนี้มีการซื้อขายทุกวันไหม มูลค่าการซื้อขายดูได้จากที่ไหน?มากหรือน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อขายหุ้น?

มูลค่าการซื้อขาย (Value) คือ มูลค่าการซื้อขายทั้งหมดของตราสารหนี้ในตลาด โดยการซื้อขายตราสารหนี้ของไทยจะอยู่ในรูปแบบ Over The Counter (OTC) เป็นการติดต่อซื้อขายกันเองระหว่างคู่ค้า (ผู้ซื้อ &ผู้ขาย) ไม่มีสถานที่กลางในการซื้อขายเหมือนตลาดหุ้น

โดยมูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้สามารถดูได้จาก
1. เข้าเว็บ www.thaibma.or.th
2. เลือก Bond Market Data
3. ตามด้วย Market Highlightและ Daily Market Highlight หรือ ตามลิงค์นี้ได้เลย http://www.thaibma.or.th/EN/Market/Highlight1.aspx

ข้อมูลการซื้อขายตราสารหนี้มีรายละเอียดดังนี้ครับ
1. Total Trading value คือมูลค่าการซื้อขายทุกประเภททั้ง Outright, Financing และ Otherรวมกันใน 1 วัน
2. Outright Trading คือมูลค่าการซื้อขายแบบOutrightของตราสารหนี้ทุกประเภท ทุกรุ่นอายุ และแสดงมูลค่าการซื้อขายของกลุ่มนักลงทุนที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 2 กลุ่มแรกในแต่ละวันและ Foreign Companies (กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ)
3. Outright Trading (TTM>1Y) คือมูลค่าการซื้อขาย Outright ของตราสารหนี้ทุกประเภท เฉพาะตราสารหนี้ที่มีอายุมากกว่า 1 ปีเพื่อบ่งบอกถึงการซื้อขายตราสารหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนในระยะยาวเท่านั้น
4. Financing คือมูลค่าการซื้อขายที่แบ่งเป็น Bilateral Repo และ Private repo
*ทั้งนี้ ข้อมูลการซื้อขายจะไม่รวมการซื้อขายของตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศ
*ข้อมูลการซื้อขายนี้สามารถดูย้อนหลังได้ ถึงปี ค.ศ.2008

เพียงเท่านี้ นักลงทุนทุกท่านก็จะสามารถติดตามการซื้อขายของตราสารหนี้ไทยได้ ในครั้งหน้า พวกเรา Bond & Ben จะขอมาบอกแหล่งข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการข้อมูลการซื้อขายอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการซื้อขายแยกตามประเภทตราสาร, ข้อมูลการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ หรือข้อมูลสรุปรายเดือน ไตรมาส หรือปี ต่อๆไป

และเพื่อช่วยให้นักลงทุนมีความเข้าใจการซื้อขายตราสารหนี้ไทยกันมากขึ้น Bond&Benขออธิบายเพิ่มเติมเล็กน้อยว่าการซื้อขายตราสารหนี้ของไทยจำแนกได้ 3 ประเภท ดังนี้
1. Outright trading คือการซื้อขายตราสารหนี้ที่เป็นการซื้อขายขาดไม่มีเงื่อนไขหรือข้อตกลงล่วงหน้าที่ต้องซื้อขายคืน
2. Financing คือการซื้อขายตราสารหนี้ที่มีเงื่อนไขหรือมีข้อตกลงล่วงหน้าที่ต้องซื้อขายคืนตามเวลาที่กำหนด ประกอบด้วย

• ธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคีของ ธปท. (Bilateral Repurchase Transactions) เป็นการดำเนินการผ่านตลาดการเงิน โดย ธปท. กับ Primary Dealers เพื่อต้องการเพิ่มหรือลดสภาพคล่อง (ซื้อโดยมีสัญญาซื้อคืน/ขายคืน) ชั่วคราวผ่านธุรกรรมนี้เพื่อให้สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เหมาะสมส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาของธุรกรรมอยู่ที่1 วัน 7 วัน 14 วัน หรืออาจนานได้ถึง 6 เดือน

• ธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน (Private Repurchase Transactions)

เป็นการตกลงระหว่างผู้ขายและ ผู้ซื้อโดยผู้กู้เงินตกลงจะขายหลักทรัพย์ให้กับผู้ให้กู้เงิน โดยมีสัญญาว่าจะซื้อคืนหลักทรัพย์จากผู้ให้กู้เงินในอนาคต ด้วยจำนวนเงินเท่ากับเงินต้นที่ได้กู้ยืมไว้บวกกับดอกเบี้ยของการกู้ยืมตามระยะเวลาและอัตราดอกเบี้ยที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ดังนั้นธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนส่วนใหญ่แล้วเป็นการกู้ยืมเงินระยะสั้นโดยมีหลักทรัพย์เป็นหลักประกัน
3. Other คือ การทำธุรกรรมซื้อขายตราสารหนี้และมีสัญญาซื้อคืน (Sale buy back) ระยะสั้นๆ ไม่เกิน 6 เดือน
แล้วพบกันครั้งหน้ากับคำถามอื่นที่ถามกันเข้ามาครับ

All Blogs