Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Dec. 19, 2019
บาดาล The Series ตอนที่ 2/3: ปูมหลัง

ทำไม ThaiBMA ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชน เมื่อนำมาใช้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น? มาตามกันต่อได้ในบาดาล The Series ตอนที่ 2 ที่จะเล่าถึงปูมหลัง ที่มาของโครงการบาดาล

ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทยขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากมูลค่าคงค้างเพียง

1 ล้านล้านบาทในปี 2551 เพิ่มขึ้นมาเป็นเกือบ 4 ล้านล้านบาทเมื่อสิ้นเดือนตุลาคม 2562 และคาดว่าจะขยายตัวมากขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งอาจทำให้โครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบันมีข้อจำกัดในการรองรับปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นของทั้งตลาดแรกและตลาดรอง ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ร่วมตลาดที่เกี่ยวข้อง

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) จึงได้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนในชื่อ “โครงการบาดาล”

เริ่มจากตลาดแรก: กระบวนการเสนอขายหุ้นกู้ยังมีขั้นตอนซ้ำซ้อน ปัจจุบันผู้ออก (Issuer) จะเสนอขายหุ้นกู้ผ่านผู้จัดการการจำหน่าย (Underwriter) ซึ่งหุ้นกู้แต่ละรุ่นอาจใช้ underwriter หลายราย ข้อมูลการจองซื้อจากนักลงทุนหลายพันรายจะต้องถูกตรวจสอบความถูกต้อง และรวบรวมนำส่งให้นายทะเบียนที่จะสอบทานความถูกต้องอีกรอบหนึ่ง

การตรวจสอบข้อมูลจองซื้อยังใช้เวลาค่อนข้างนาน: จากนั้น underwriter แต่ละรายต้องยืนยันข้อมูลนักลงทุนและจำนวนหน่วยที่ได้รับจัดสรรกับนายทะเบียน ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ทำให้เกิดความล่าช้าและความซ้ำซ้อนในกระบวนการตรวจสอบข้อมูล โดยต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7 วันกรณีเป็นหุ้นกู้แบบไร้ใบ (Scripless) และไม่น้อยกว่า 14 วันในกรณีเป็นหุ้นกู้แบบมีใบ (Script) นับจากวันที่ออกหุ้นกู้ (Issue Date) นักลงทุนจึงจะสามารถทำการซื้อขายหุ้นกู้รุ่นนั้นในตลาดรองได้

การซื้อขายในตลาดรองมีความเสี่ยงในการส่งมอบในกรณีหุ้นกู้แบบมีใบ: หากเป็นหุ้นกู้แบบมีใบ เมื่อจะทำการซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดรอง ต้องมีการตรวจสอบใบหุ้นกู้เพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของหุ้นกู้กับนายทะเบียนอีก ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 วันทำการกว่ากระบวนการจะแล้วเสร็จ ทำให้เกิดความเสี่ยงในการส่งมอบหุ้นกู้ (Settlement Risk) และยิ่งในอนาคตที่ปริมาณการซื้อขายมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น กระบวนการตรวจสอบความเป็นเจ้าของหุ้นกู้ที่ยังเป็นแบบ manual จะยิ่งล่าช้า ความเสี่ยงในการส่งมอบก็จะสูงขึ้นตาม ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นกู้ภาคเอกชนแบบมีใบอยู่ราว 30% ของหุ้นกู้ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งค่อนข้างมีนัยสำคัญหากเกิดความเสี่ยงในการส่งมอบ

ไม่มีข้อมูลผู้ถือตราสารหนี้ที่เป็นชุดเดียวกัน: ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เนื่องจากหุ้นกู้แต่ละรุ่นของผู้ออกรายเดียวกันก็อาจใช้นายทะเบียนที่แตกต่างกันได้ ดังนั้นข้อมูลผู้ถือตราสารหนี้ที่จะนำมาใช้ยืนยันความเป็นเจ้าของหุ้นกู้ก็กระจัดกระจายไปตามนายทะเบียนของหุ้นกู้แต่ละรุ่น ปัจจุบันมี underwriter 30 รายและนายทะเบียน 9 ราย ทำให้เกิดความยุ่งยากและใช้เวลาค่อนข้างนานในการดำเนินการดังกล่าว

แม้จะไม่ทำการซื้อขาย หากนักลงทุนอยากรู้ว่าถือหุ้นกู้อะไรบ้างก็ยังยากที่จะรู้: ถ้านักลงทุนอยากรู้ว่าตัวเองถือครองหุ้นกู้อะไรอยู่บ้างก็ต้องไปสอบถามจากนายทะเบียนแต่ละรายหรือรวบรวมจาก Broker ที่ตนเปิดบัญชีซื้อขายด้วย

ไม่เว้นแม้แต่ผู้ออก หากอยากรู้รายชื่อเจ้าหนี้ของตัวเองก็ยังยากที่จะรู้: ส่วนผู้ออกหุ้นกู้ ก็ไม่มีข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นของบริษัทรวมไว้เป็นชุดข้อมูลเดียว ต้องสอบถามไปยังนายทะเบียนหุ้นกู้แต่ละรุ่นหรือต้องรอวันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นกู้จึงจะทราบข้อมูลที่ครบถ้วน

ขาดฐานข้อมูลผู้ถือหุ้นกู้ที่เป็นปัจจุบันกรณีเกิดเหตุผิดนัด: ที่สำคัญ หากเกิดเหตุผิดนัดชำระหนี้ (Default) การไม่มีฐานข้อมูลผู้ถือตราสารหนี้ที่ครบถ้วนและเป็นปัจจุบันทำให้ไม่สามารถทราบได้เลยว่า ในขณะนั้นมีใครถือครองหุ้นกู้รุ่นนั้นๆ อยู่บ้าง ทำให้เกิดความยุ่งยากและล่าช้าในการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้และขอมติที่ประชุมในการเรียกชำระหนี้ในทันที (Call default)

ดังนั้น จากการที่ข้อมูลผู้ถือหุ้นกู้กระจัดกระจายและไม่มีฐานข้อมูลเดียวกันที่เป็นปัจจุบันทำให้เกิดต้นทุนและความเสี่ยงในการทำธุรกรรมตราสารหนี้ที่สูงขึ้น และเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของตลาดในอนาคต เทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) ซึ่งช่วยทำให้เกิดการจัดเก็บข้อมูลชุดเดียวกันแบบเป็นปัจจุบันจึงถูกนำมาใช้ในโครงการบาดาล มาตามกันต่อได้ในบาดาล The Series ตอนสุดท้าย

All Blogs