• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    JUN. 23, 2025
ตลาดรองตราสารหนี้ไทย: ช่องทางการซื้อหรือขายตราสารหนี้

โดยปกติ นักลงทุนส่วนมากจะซื้อตราสารหนี้จากตลาดแรกและถือเพื่อรับดอกเบี้ยจนครบกำหนดอายุ ก็รับเงินต้นคืน จึงอาจทำให้ไม่ได้สัมผัสหรือรู้จักตลาดรองเท่าใดนัก วันนี้จึงอยากกล่าวถึงตลาดรองตราสารหนี้ไทยให้ได้รู้จักกันมากขึ้น เพื่อจะได้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการซื้อขายตราสารหนี้ไทย

ตลาดรองตราสารหนี้ไทย (Secondary Market) มีลักษณะเป็น Over The Counter (OTC) ที่ผู้ลงทุนติดต่อสอบถามราคาจากผู้ค้าตราสารหนี้เพื่อทำการซื้อขาย ผู้ค้าตราสารหนี้ หรือ Dealer ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการซื้อขายตราสารหนี้ระหว่างผู้ลงทุน โดยผู้ค้าตราสารหนี้ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์ที่มีใบอนุญาตค้าตราสารหนี้ ดังนั้นผู้ลงทุนที่ต้องการขายตราสารหนี้ก่อนครบกำหนด หรือผู้ลงทุนที่พลาดการซื้อ ตราสารหนี้ออกใหม่จากตลาดแรก ก็สามารถมาหาซื้อหรือขายให้ผู้ลงทุนอื่นในตลาดรองได้

จากข้อมูลธุรกรรมการซื้อขายตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทยในตลาดรองระหว่างปี 2018-2024 พบว่า การซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองของไทยมีมูลค่าเฉลี่ยวันละ 59,000-88,000 ล้านบาท โดยในปี 2024 มีมูลค่าเฉลี่ยวันละ 78,504 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าการซื้อขายส่วนใหญ่ (65%) เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นที่ประกอบด้วยตั๋วเงินคลังและตั๋วเงินธปท. โดยมีกองทุนรวมเป็นผู้ลงทุนหลักที่ทำการซื้อขาย ส่วนพันธบัตรรัฐบาล (24%) มีมูลค่าการซื้อขายในลำดับที่สอง โดยผู้ลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนการซื้อขายสูงที่สุด สำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชน (9%) มีสัดส่วนการซื้อขายเป็นลำดับที่สาม โดยมีกองทุนรวมเป็นผู้ลงทุนหลัก ซึ่งส่วนใหญ่ทำการซื้อขายหุ้นกู้ที่มีอายุคงเหลือ (ttm) น้อยกว่า 3 ปี และอยู่ในกลุ่มเรทติ้ง A

จะเห็นได้ว่าผู้ลงทุนกลุ่มกองทุนรวมเป็นผู้ลงทุนหลักที่ทำการซื้อขายตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นและตราสารหนี้ภาคเอกชน ส่วนผู้ลงทุนต่างชาติจะทำการซื้อขายหลักในพันธบัตรรัฐบาล สำหรับกลุ่มผู้ลงทุนบุคคลแม้จะไม่ได้เป็นผู้ลงทุนหลักในการซื้อขายตราสารหนี้ไทย มีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายรวมเฉลี่ย 0.5% เท่านั้น แต่มูลค่าการซื้อขายของผู้ลงทุนกลุ่มนี้มีทิศทางเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะในช่วง 2018-2024 ทั้งในแง่ของมูลค่าการซื้อขายและจำนวนรายการการซื้อขาย โดยส่วนใหญ่ผู้ลงทุนบุคคลจะซื้อขายหุ้นกู้ที่มี ttm น้อยกว่า 3 ปี ในกลุ่มเรทติ้ง A และพันธบัตรออมทรัพย์ เป็นหลัก ขณะที่กลุ่มกองทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณ (ซึ่งได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) และ บริษัทประกัน ต่างมีมูลค่าการซื้อขายในช่วงดังกล่าวในทิศทางที่ลดลง โดยผู้ลงทุนทั้งสองกลุ่มทำการซื้อขายตราสารหนี้ภาครัฐเป็นส่วนใหญ่

กล่าวโดยสรุป ตลาดรองตราสารหนี้ไทยส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ภาครัฐ โดยมีผู้ลงทุนกลุ่มกองทุนรวมและผู้ลงทุนต่างชาติทำการซื้อขายเป็นหลัก

ในด้านของ dealer ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางการซื้อขายตราสารหนี้ระหว่างผู้ลงทุนต่างๆ พบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยทำหน้าที่เป็นตัวกลางการซื้อขายกว่า 85% ของมูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้โดยรวม โดยมีกลุ่มกองทุนรวมเป็น counter party หลัก รองลงมาคือตัวกลางที่เป็นธนาคารพาณิชย์ต่างชาติ มีสัดส่วนการซื้อขาย 11% โดยมีกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติเป็น counter party หลักในการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล และอีก 3% ของมูลค่าการซื้อขายจะมีบริษัทหลักทรัพย์ทำหน้าที่เป็นตัวกลางการซื้อขายให้กับกองทุนรวม สหกรณ์ และ ผู้ลงทุนบุคคล ในการซื้อขายหุ้นกู้เป็นส่วนใหญ่

ปัจจุบันมีสถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตค้าตราสารหนี้ (dealer) รวม 53 ราย เป็นธนาคารพาณิชย์ไทย 12 ราย ธนาคารพาณิชย์ต่างชาติ 6 ราย และบริษัทหลักทรัพย์ 35 ราย ผู้ลงทุนสามารถดูรายชื่อและเบอร์ติดต่อของ dealer ได้ที่เว็บไซต์ ThaiBMA (https://www.thaibma.or.th/EN/Trader/DealerMembers.aspx) โดย facebook ของ ThaiBMA จะเผยแพร่ราคาเสนอซื้อและเสนอขายของหุ้นกู้ต่าง ๆ ที่รวบรวมจาก dealer กว่า 10 ราย เป็นประจำในเวลา 10 โมงเช้าของทุกวันทำการ เพื่อเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ลงทุนทราบและเปรียบเทียบราคาอีกทางหนึ่ง

All Blogs