Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Apr 28 2016
รู้จักกับ Perpetual Bond

จุดเด่นอย่างหนึ่งของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนไทยคือ มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนตามความต้องการ ตราสารหนี้ประเภทใหม่ที่เพิ่งมีการออกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีความก้ำกึ่งระหว่างความเป็นตราสารหนี้และตราสารทุนก็คือ Perpetual bond หรือ ตราสารหนี้ประเภทไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท เราลองมาทำความรู้จักตราสารหนี้ประเภทนี้กัน

โดยทั่วไปตราสารหนี้จะมีการระบุดอกเบี้ยจ่ายและวันไถ่ถอนที่จะได้รับชำระคืนเงินต้นไว้แน่นอน แต่ Perpetual bond จะไม่มีการกำหนดวันไถ่ถอนหรือวันหมดอายุเอาไว้ แปลว่าผู้ออกจะจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ลงทุนไปอีกเป็นสิบหรือร้อยปีก็ได้ โดยนักลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยแต่ละงวดตามเงื่อนไขที่ผู้ออกกำหนด ในขณะที่จะได้รับคืนเงินต้นเมื่อบริษัทผู้ออกเลิกกิจการ หรือเมื่อผู้ออกใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด นอกจากนั้น บางครั้งผู้ออกอาจกำหนดสิทธิแฝง เช่น การด้อยสิทธิ การเลื่อนหรืองดชำระดอกเบี้ยภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ ก็ได้

ทำไมบริษัทถึงออก Perpetual bond

การที่ Perpetual bond ไม่กำหนดวันไถ่ถอน และอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ออกสามารถยกเว้นหรือเลื่อนการชำระดอกเบี้ยแต่ละงวดออกไปได้ ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของบริษัท (เช่น อาจเลื่อนหรืองดการชำระได้หากบริษัทไม่มีกำไร) ทำให้ตราสารหนี้ชนิดนี้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับตราสารทุน ดังนั้นในช่วงที่ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนเงินกองทุนให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นของหน่วยงานกำกับดูแล จึงเห็นการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่เป็น Perpetual bond จากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ มากขึ้น เพราะสามารถใช้นับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารได้ ซึ่ง Perpetual bond ที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์เพื่อนับเป็นเงินกองทุนดังกล่าวจะมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เพิ่มเติมซึ่งอาจมีผลกระทบต่อนักลงทุน และเพิ่มความเสี่ยงในการลงทุน เช่น การลดหนี้หรือปลดหนี้ได้หากธนาคารประสบปัญหาการเงิน หรือ กำหนดเงื่อนไขให้แปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญได้ เป็นต้น สำหรับบริษัทเอกชนทั่วไปที่ไม่ใช่สถาบันการเงินก็อาจสามารถนับ Perpetual bond เป็นส่วนหนึ่งของทุน (equity) ได้ หากมีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานบัญชีที่กำหนด ดังนั้นจึงเป็นประโยชน์ในการระดมทุนสำหรับบริษัทโดยไม่เพิ่มอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน

ในประเทศไทย การออก Perpetual Bond ยังมีไม่มากนัก ปัจจุบัน ณ วันที่ 22 เมษายน 2559 มีเพียง 4 รุ่น โดยเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิทั้งหมด มูลค่ารวม 22,440 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.1% ของตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยมีทั้งผู้ออกที่เป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อนับเป็นเงินกองทุน และ บริษัทเอกชน

ความน่าสนใจและปัจจัยความเสี่ยงของ Perpetual bond

ตราสารหนี้ประเภทนี้มีความน่าสนใจสำหรับนักลงทุนในแง่ของอัตราผลตอบแทนที่จูงใจเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น และหากการจ่ายดอกเบี้ยเป็นไปตามที่กำหนด นักลงทุนก็จะได้รับรายได้ที่สม่ำเสมอเป็นระยะเวลานาน ในด้านปัจจัยความเสี่ยง Perpetual bond นับเป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่งจึงมีความเสี่ยงด้านเครดิตเช่นเดียวกับการลงทุนในตราสารหนี้แบบปกติ ทั้งนี้ โดยทั่วไปอันดับเครดิตของหุ้นกู้ที่เป็น Perpetual bond จะต่ำกว่าหุ้นกู้ปกติที่ออกโดยผู้ออกรายเดียวกันประมาณ 2-3 ระดับ เนื่องมาจากมีปัจจัยความเสี่ยงอื่นๆเพิ่มเติมซึ่งนักลงทุนควรพิจารณาก่อนการลงทุน ดังนี้

1. ผู้ถือหุ้นกู้ Perpetual bond อาจไม่ได้รับชำระดอกเบี้ยหรือได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าที่คาดหวัง หากธุรกิจหรือผลการดำเนินงานของบริษัทไม่เป็นไปตามคาดหมาย เนื่องจากมักจะมีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ออกสามารถ “ยกเว้น” หรือ “เลื่อน” การจ่ายดอกเบี้ยได้ (ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่คล้ายตราสารทุน) เช่น “ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิเลื่อนการชำระดอกเบี้ยพร้อมกับสะสมดอกเบี้ยไปชำระในวันใดๆ ก็ได้ตามดุลพินิจของผู้ออกหุ้นกู้แต่เพียงผู้เดียว” เงื่อนไขดังกล่าวจึงอาจทำให้ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนได้รับจริงต่ำกว่าผลตอบแทนที่ระบุไว้ ทั้งนี้โดยไม่ถือเป็นการผิดเงื่อนไขในข้อกำหนดสิทธิ และหากผู้ออกหุ้นกู้เลื่อนการชำระดอกเบี้ยไปนานเท่าไรอัตราผลตอบแทนที่ผู้ถือจะได้รับก็จะยิ่งต่ำลง
2. กรณีที่เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ผู้ถือจะได้รับสิทธิในการชำระหนี้หลังเจ้าหนี้บุริมสิทธิและเจ้าหนี้สามัญอื่นๆ หากผู้ออกถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือประสบภาวะล้มละลาย
3. สภาพคล่องค่อนข้างน้อย การซื้อขายเปลี่ยนมือของตราสารประเภทนี้ในตลาดรองมีไม่มาก ทำให้ผู้ถือตราสารอาจไม่สามารถขายในตลาดรองได้ในราคาที่ตนต้องการ
4. ความเสี่ยงจากการถูกไถ่ถอนก่อนกำหนด เนื่องจาก Perpetual Bond มักจะมีเงื่อนไขให้ผู้ออกสามารถไถ่ถอนคืนก่อนกำหนดได้ (Call option) ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนไม่ได้รับดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่ต้องการ
5. กรณีผู้ออก Perpetual bond เป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อใช้นับเป็นเงินกองทุน จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลดหนี้หรือการลดหนี้บางส่วน ในกรณีที่ธนาคารประสบปัญหาการเงิน หรือ กำหนดเงื่อนไขให้แปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญได้ ผู้ลงทุนจึงอาจไม่ได้รับเงินคืน หรือได้รับในจำนวนที่น้อยกว่าเงินที่ลงทุนไป

สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนลงทุนใน Perpetual bond

เนื่องจาก Perpetual bond ไม่ได้กำหนดอายุไถ่ถอน นักลงทุนจึงอาจต้องถือตราสารหนี้เป็นระยะเวลานาน การทำความรู้จักบริษัทผู้ออกจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ออกมีความสามารถและมีผลการดำเนินงานที่สามารถจ่ายอัตราผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนได้ตามเงื่อนไขและตลอดระยะเวลาของตราสาร ทั้งนี้ Credit rating ถือเป็นข้อมูลหนึ่งที่สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในเบื้องต้นได้

นอกจากนี้ การที่ Perpetual Bond มักจะกำหนดเงื่อนไขที่ทำให้มีคุณสมบัติคล้ายตราสารทุน เช่น บางรุ่นอาจระบุว่า ผู้ออกสามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ยได้โดยจะสะสมดอกเบี้ยจ่ายในงวดถัดไป บางรุ่นอาจระบุว่าหากบริษัทไม่มีกำไร ผู้ออกสามารถงดจ่ายดอกเบี้ยได้ในบางงวดโดยไม่สะสมดอกเบี้ยจ่าย โดยหากเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ย บริษัทจะต้องไม่จ่ายปันผล หรือซื้อหุ้นคืน เป็นต้น เงื่อนไขเหล่านี้อาจมีความแตกต่างกันไปในตราสารแต่ละรุ่น แต่มีผลกระทบโดยตรงต่อนักลงทุน ดังนั้น นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจความเสี่ยงและเงื่อนไขเฉพาะตัวของตราสารประเภทนี้ก่อนการตัดสินใจลงทุน

**การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสนใจลงทุน**

All Blogs