Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Dec 8, 2015
นิยาม “ตราสารหนี้” แบบเข้าใจง่าย

“ตราสารหนี้” คือ ตราสารทางการเงินที่แสดงถึงพันธะสัญญาการเป็นหนี้ระหว่างผู้ออกตราสาร (ผู้ขอกู้เงิน) และผู้ถือตราสาร (ผู้ให้กู้เงิน)

หากอธิบายให้เข้าใจง่ายกว่าขึ้นอีก อยากให้ลองนึกภาพตามดังนี้ครับ

นาย A เปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเองมาระยะหนึ่งและมียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง ต่อมาอยากจะปรับปรุงร้านกาแฟ ซึ่งต้องใช้เงินทุนจำนวนหนึ่ง แต่นาย A มีภาระเงินกู้จากธนาคารอยู่แล้วและมีดอกเบี้ยค่อนข้างสูง จึงไม่อยากไปกู้เพิ่ม

นาย A จึงติดต่อกับนาย B เพื่อขอทำสัญญายืมเงิน โดยจะระบุชัดเจนในสัญญานี้ว่า จะขอยืมเงินเป็นเวลากี่ปี จ่ายดอกเบี้ยปีละกี่เปอร์เซ็นต์ และจะจ่ายดอกเบี้ยปีละกี่ครั้ง รวมถึงข้อกำหนดและเงื่อนไขอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งนาย B ก็เห็นว่าร้านของนาย A นั้นดูมั่นคง และนาย A ก็รู้จักกันมานานน่าจะเชื่อถือได้ จึงยินยอมทำสัญญา

จากการตกลงดังกล่าวทำให้ นาย A คือ ผู้ออกตราสาร (ผู้ขอกู้เงิน) ส่วน นาย B คือ ผู้ถือตราสาร (ผู้ให้กู้เงิน) นั่นเอง นั่นแปลว่า นาย A ก็มีหน้าที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ทุกปีตามที่ตกลงในสัญญาจนครบกำหนดปีสุดท้ายก็จะคืนเงินที่ยืมทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้ายให้กับ นาย B

ประโยชน์ที่นาย A หรือผู้ออกตราสารหนี้ได้ คือ การได้เงินทุนไปใช้สำหรับปรับปรุงหรือขยายกิจการ ด้วยต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการไปกู้จากธนาคาร ขณะที่ประโยชน์ที่นาย B หรือผู้ถือตราสารหนี้ได้ คือ การได้รับผลตอบแทนที่แน่นอนในรูปดอกเบี้ยอีกทั้งยังสูงกว่าการนำเงินไปฝากธนาคารอีกด้วย

ในชีวิตจริง ผู้ออกตราสารหนี้ (ผู้ขอกู้เงิน) จะเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ 1) กระทรวงการคลัง / รัฐวิสาหกิจ 2) บริษัทเอกชน ขณะที่ผู้ถือตราสารหนี้ (ผู้ให้กู้เงิน) จะเรียกโดยรวมว่า นักลงทุน ซึ่งมีตั้งแต่บุคคลธรรมดาทั่วไปจนถึงนักลงทุนสถาบันต่างๆ

1) ตราสารหนี้ที่ผู้ออกเป็น ‘กระทรวงการคลัง / รัฐวิสาหกิจ’

- ถ้าอายุของตราสารหนี้ที่ออกอายุมากกว่า 1 ปี จะเรียกว่า ‘พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond)’ / ‘พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (State-Own-Enterprise Bond หรือ SOE Bond)’

- ถ้าอายุของตราสารหนี้ที่ออกอายุไม่เกิน 1 ปี จะเรียกว่า ‘ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill หรือ T-Bill)’

2) ตราสารหนี้ที่ผู้ออกเป็น ‘บริษัทเอกชน’ จะเรียกว่า ‘หุ้นกู้ (Corporate Bond)’ ซึ่งมีทั้งอายุไม่เกิน 1 ปี (Short-term corporate bond) และ มากกว่า 1 ปี (Long-term corporate bond)

All Blogs