Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Aug. 27, 2019
หุ้นกู้ไม่มีเรทติ้งแต่มีประกัน ปลอดภัยจริงไหม!!

นักลงทุนหลายท่านพอได้ยินคำว่า “หุ้นกู้มีประกัน (Secured bond)” อาจรู้สึกว่าหุ้นกู้นั้นปลอดภัยกว่าหุ้นกู้ทั่วไป เพราะมีสินทรัพย์เป็นหลักประกันการชำระหนี้ แล้วหุ้นกู้มีประกันทุกรุ่นปลอดภัย น่าลงทุนจริงไหม?

หุ้นกู้มีประกัน (Secured bond) คืออะไร

หุ้นกู้มีประกัน (Secured bond) คือ หุ้นกู้ที่ผู้ออกใช้สินทรัพย์ อาทิ ที่ดิน อาคาร หรือหุ้นของบริษัทอื่น มาเป็นหลักประกัน รวมถึงหุ้นกู้ที่มีการค้ำประกันโดยนิติบุคคลอื่น เช่น บริษัทแม่ หรือบริษัทในเครือ เป็นผู้ค้ำประกัน การออกหุ้นกู้ประเภทนี้จะต้องแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อทำหน้าที่ดูแลและรักษาประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้รวมทั้งมีอำนาจในการกระทำแทนผู้ถือหุ้นกู้ทั้งปวง ซึ่งรวมถึงการดำเนินการบังคับหลักประกัน

เมื่อหุ้นกู้ผิดนัดชำระ หลักประกันจะมีความหมายอย่างมาก โดยผู้แทนผู้ถือหุ้นจะมีอำนาจกระทำการแทนผู้ถือหุ้นกู้ทั้งปวง ได้แก่ การใช้สิทธิบังคับหลักประกัน เพื่อนำมาชำระคืนแก่ผู้ถือหุ้นกู้ ส่วนหุ้นกู้ที่มีการค้ำประกันโดยนิติบุคคลอื่น ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะมีสิทธิเรียกร้องหรือดำเนินการให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามหุ้นกู้

ในกรณีผู้ออกหุ้นกู้ล้มละลาย หากเป็นหุ้นกู้ที่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ผู้ถือหุ้นกู้สามารถเลือกที่จะใช้สิทธิบังคับหลักประกันเพื่อได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญ หรือผู้ถือหุ้นกู้อาจเลือกยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ส่วนหุ้นกู้ที่มีการค้ำประกันโดยนิติบุคคลอื่น ผู้ถือหุ้นกู้จะอยู่ในฐานะเดียวกับเจ้าหนี้สามัญ ซึ่งมีสิทธิยื่นขอรับชำระหนี้และได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของผู้ออก รวมทั้งมีสิทธิเรียกร้องทางแพ่งให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ด้วย

ใครเป็นผู้ออกหุ้นกู้มีประกัน (Secured bond)

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2016 – 2018) หุ้นกู้ระยะยาวมีประกัน มีการออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะภายหลังเหตุการณ์ผิดนัดชำระที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2016 การออกหุ้นกู้มีประกันมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย (CAGR) 23% ต่อปี โดยผู้ออกส่วนใหญ่มีอันดับเครดิตอยู่ในกลุ่ม Under investment grade และกลุ่ม Non-rated การออกหุ้นกู้แบบมีประกันจึงช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน มูลค่าการออกหุ้นกู้มีประกันในครึ่งแรกของปี 2019 จากผู้ออกกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นถึง 52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2018 ในขณะที่กลุ่ม Investment grade มียอดการออกหุ้นกู้มีประกันเพิ่มขึ้นเพียง 6% เท่านั้น

สำหรับสินทรัพย์ที่ผู้ออกกลุ่ม Under investment grade และกลุ่ม Non-rated นำมาใช้เป็นหลักประกันพบว่า 63% เป็นที่ดิน อาคาร 7% เป็นหุ้นของบริษัทตัวเองหรือของบริษัทอื่น และ 30% เป็นการค้ำประกันโดยบริษัทแม่ โดยมูลค่าของสินทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกันเหล่านั้นจะสูงกว่ามูลค่าการออกหุ้นกู้ โดยกรณีป็นอสังหาริมทรัพย์จะมีมูลค่าสูงกว่าหุ้นกู้ที่ออกเฉลี่ย 1.4 เท่า และถ้าเป็นหุ้นจะสูงกว่ามูลค่าหุ้นกู้เฉลี่ย 2.6 เท่า

หุ้นกู้มีประกันปลอดภัย น่าลงทุนจริงไหม?

แม้นักลงทุนจะรู้สึกอุ่นใจมากขึ้นหากหุ้นกู้ที่ลงทุนมีหลักประกันการชำระหนี้ แต่การมีหลักประกัน ไม่ว่าประเภทใด ไม่ได้ช่วยทำให้โอกาสผิดนัดชำระของบริษัทลดลง และการใช้คำว่าหุ้นกู้มีประกัน อาจไม่ได้สะท้อนความเสี่ยงของหลักประกันที่แตกต่างกัน เช่น ในกรณีที่ใช้หุ้นของบริษัทหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ มูลค่าหุ้นของบริษัทก็อาจลดลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ แม้ผู้ถือหุ้นกู้จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากหลักประกันก่อนเจ้าหนี้สามัญอื่น แต่ต้องไปดำเนินการฟ้องศาลเพื่อบังคับหลักประกันขายทอดตลาด ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ใช้เวลานาน และมีโอกาสที่จะได้เงินต้นคืนไม่ครบจากมูลค่าที่ลดลงของหลักประกัน นักลงทุนจึงควรต้องคำนึงถึงคุณภาพและความน่าเชื่อถือของหลักประกัน รวมถึงระยะเวลาในกระบวนการทางกฎหมาย ในกรณีที่ต้องมีการบังคับหลักประกันด้วย หากพิจารณาแล้วผลตอบแทนคุ้มค่ากับความเสี่ยง หุ้นกู้ไม่จัดอันดับเครดิตแต่มีประกันก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจครับ

All Blogs