• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Mar 16, 2017
ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond)

ในปัจจุบันหลายประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของการลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน รัฐบาลของประเทศต่างๆรวม 197 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change (UNFCCC)) ซึ่งมีจุดประสงค์ในการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมให้ประเทศภาคีสมาชิกปฏิบัติตามเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ตราสารหนี้สีเขียว หรือ Green Bond ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินอย่างหนึ่งที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการลดภาวะโลกร้อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการต่างๆที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานสะอาด การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การขนส่ง และอาคารสีเขียว เป็นต้น

ตัวอย่างของการออก Green Bondในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาได้แก่

ธนาคาร ABN AMRO ประเทศเนเธอร์แลนด์ ออก Green Bond เพื่อนำเงินไปปล่อยกู้แก่บริษัทที่ทำโครงการอาคารลดโลกร้อน โดยอาคารดังกล่าวจะต้องทำตามเป้าหมายที่กำหนด เช่นปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่เกิน 1,322 ตันคาร์บอนภายใน 1 ปี เป็นต้น ทั้งนี้ มี Oekom Research ซึ่งเป็นองค์กรภายนอก (External Review) ทำหน้าที่ตรวจสอบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ Green Bond Principal (GBP)

Republic of France (รัฐบาลฝรั่งเศส) เร็วๆนี้ เพิ่งออก Green bond จำนวน 7,000 ล้านยูโร เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการสิ่งแวดล้อม เช่น สิ่งปลูกสร้าง การขนส่ง พลังงานทางเลือก การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการควบคุมมลภาวะ เป็นต้น โดยมี VigeoEirisเป็นองค์กรภายนอกในการตรวจสอบ

Iberdrola (การไฟฟ้าของประเทศสเปน) ออก Green bond จำนวน 1,000 ล้านยูโร เพื่อระดมทุนไปใช้ในโครงการพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก เช่น ฟาร์มลม (wind farm) ในประเทศอังกฤษ สเปน และเยอรมัน โดย VigeoEiris เป็นองค์การภายนอกในการตรวจสอบ

ทั้งนี้ กลุ่มนักลงทุนใน Green bond คือ นักลงทุนที่รักสิ่งแวดล้อม หรือได้รับสิทธิประโยชน์บางอย่าง เช่น สิทธิพิเศษทางภาษีจากการลงทุนในตราสารหนี้ดังกล่าว จากรายงานของ OECD ปี 2016 คาดว่าในอีก 8 ปีข้างหน้า ความต้องการลงทุนในโครงการลดก๊าซคาร์บอน สูงถึง 2.23 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่ปริมาณการออกGreen bond ทั่วโลกมีเพียง 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นเกิดจาก ประเทศภาคีสมาชิกภายใต้ข้อตกลง UNFCCC ได้มีการออกกฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอน เช่น การเก็บภาษีคาร์บอนในอัตราที่สูง ส่งผลให้ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศเป็นผู้ลงทุนหลักในตลาด Green bond

ตราสารหนี้ที่จะถือว่าเป็น Green bond ภายใต้มาตรฐานที่เรียกว่า “Green Bond Principles” ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้

1. Use of Proceeds คือ การกำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงินทุนจากการออกตราสารหนี้สำหรับโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

2. Project Evaluation and selection คือ การประเมินและคัดเลือกโครงการที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมโดยใช้หน่วยงานภายนอกที่ได้รับการยอมรับ (External Review)

3. Management of Proceeds คือ การบริหารจัดการเงินทุนที่ได้รับจากการออกตราสารหนี้อย่างเหมาะสม และโปร่งใส รวมถึงจัดให้มีผู้ตรวจสอบภายนอก (External Review) เพื่อให้ขั้นตอนในการจัดสรรเงินเป็นไปอย่างเหมาะสม

4. Reporting คือ จะต้องจัดทำรายงานให้นักลงทุนทราบความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานจนกว่าจะเสร็จสิ้นโครงการ

ความตื่นตัวในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายประเทศมีการออกกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาคการผลิต และการลงทุนให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมล่าสุดในการประชุมของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Markets Forum: ACMF) ในเดือนมีนาคม 2560 ได้เห็นชอบแนวทางพัฒนามาตรฐานของ ASEAN Green Bond โดยร่วมมือกับ International Capital Market Association: ICMA) เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์ปฏิบัติของการออก Green bond ภายใต้ ICMA’s Green bond principles (GBP) ที่สอดคล้องกันทั้งภูมิภาคอาเซียนซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมาตรฐานและความน่าเชื่อถือของตราสารประเภทใหม่ และตอบโจทย์ผู้ลงทุนที่แสวงหาการลงทุนในธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และพัฒนาทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรไม่ว่าในด้านการลดมลภาวะหรือใช้พลังงานสะอาด

ดังนั้น การออก Green Bond นอกจากจะมีโอกาสในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศแล้ว ยังเป็นการเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้แก่นักลงทุนในประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ที่มา:
http://www.aft.gouv.fr/documents/%7BC3BAF1F0-F068-4305-821D-B8B2BF4F9AF6%7D/publication/attachments/25557.PDF
https://www.iberdrola.com/wcorp/gc/prod/en_US/inversores/docs/Second_Party_Opinion_Iberdrola_Green_Bond.pdf
https://www.oecd.org/environment/cc/Green%20bonds%20PP%20%5bf3%5d%20%5blr%5d.pdf
http://www.sec.or.th/th/Pages/News/Detail_News.aspx?tg=NEWS&lg=th&news_no=13&news_yy=2560

All Blogs