• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    APR. 9, 2024
CAT Bond ตราสารหนี้ภัยพิบัติ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาวะโลกร้อนมีความรุนแรงมากขึ้นส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุดขั้ว เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ที่รุนแรง ทั้งไฟป่า พายุฝน และน้ำท่วม บริษัทประกันภัยหรือบริษัทประกันภัยต่อจึงมีความต้องการออก CAT bond มากขึ้นเพื่อลดหรือถ่ายโอนความเสี่ยงของบริษัทให้กับ ผู้ลงทุนที่ยินดีรับความเสี่ยงเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น ประกอบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น และแนวโน้มความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติที่สูงขึ้นจึงดันให้อัตราผลตอบแทนของ CAT bond สูงขึ้นตาม ในช่วงที่ผ่านมา CAT bond จึงมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก

CAT bond (Catastrophe bond) หรือตราสารหนี้ภัยพิบัติ คือ ตราสารหนี้ที่อัตราผลตอบแทน อ้างอิงกับมูลค่าความเสียหายของเหตุภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น ซึ่งถ้าเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นจนกระทั่งมูลค่าความเสียหายสูงแตะระดับที่กำหนดไว้ ผู้ออกจะสามารถหักเงินต้นหรือดอกเบี้ยตามขั้นที่กำหนดเพื่อนำไปชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้เอาประกัน แต่หากไม่เกิดเหตุภัยพิบัติตามที่ระบุไว้ขึ้น เมื่อครบกำหนดผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืน ดังนั้นอัตราผลตอบแทนหรือ Coupon ของตราสารหนี้ CAT bond จึงสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไปเพื่อชดเชยกับโอกาสที่อาจต้องสูญเงินต้นหรือดอกเบี้ย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรง ประกอบกับต้นทุนการบรรเทาและฟื้นฟูความเสียหายที่ปรับตัวสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ในปี 2023 ที่ผ่านมา มูลค่าการออก CAT bond ทั่วโลก ทำสถิติการออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปีก่อนหน้า เป็นผลให้ ณ สิ้นปี 2023 มูลค่าคงค้าง CAT bond เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ CAT bond ส่วนใหญ่เป็นการออกของหน่วยงานเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPV) ที่จัดตั้งโดยบริษัทประกันภัยและบริษัทประกันภัยต่อซึ่งกว่า 80% เป็นบริษัทจากประเทศสหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยยุโรปและญี่ปุ่น นอกจากนี้ ผู้ออก CAT bond ยังรวมถึง Insurance vehicles หรือ กองทุนที่ดำเนินการโดยภาครัฐ เช่น สำนักงานแผ่นดินไหวแห่งแคลิฟอร์เนีย สมาคมประกันวาตภัยแห่งเท็กซัส เป็นต้น และ World bank ที่ระดมทุนให้กับประเทศกำลังพัฒนาสำหรับรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ตัวอย่าง CAT bond ที่ออกในปี 2023
• World bank: (มีนาคม) ออก CAT bond อายุ 3 ปี มูลค่า 630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในนามรัฐบาลชิลีเพื่อรองรับความเสียหายจากแผ่นดินไหวและสึนามิ เป็น CAT bond ที่มีมูลค่าการออกสูงที่สุดของ World bank ในการรับโอนความเสี่ยงจากประเทศเดียว
• Nakama Re: (เมษายน) ออก CAT bond อายุ 5 ปี มูลค่า 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในนามชุมนุมประกันภัยสหกรณ์การเกษตรของประเทศญี่ปุ่น (Zenkyoren) เพื่อคุ้มครองผลกระทบจากแผ่นดินไหว CAT bond รุ่นนี้มี 2 tranche แบ่งตามมูลค่าความเสียหายที่ต้องชดเชยให้แก่ Zenkyoren โดย tranche A ที่มีความเสี่ยงในการสูญเงินต้นน้อยกว่าจะกำหนด Spread เท่ากับ 2.75 % ส่วน tranche B ที่เสี่ยงมากกว่า มี Spread เท่ากับ 4.0-4.5%
• บริษัท Eiffel Re: (มิถุนายน) ออก CAT bond อายุ 3 ปี 6 เดือน มูลค่า 150 ล้านยูโร ในนามบริษัทประกันภัย AXA สำหรับชดเชยความเสียหายจากพายุลมแรงที่จะเกิดในยุโรปรวมถึงสหราชอาณาจักร
• บริษัท Ursa Re: (ธันวาคม) ออก CAT bond อายุ 3 ปี มูลค่า 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในนามสำนักงานแผ่นดินไหวแห่งแคลิฟอร์เนีย (California Earthquake Authority: CEA) เพื่อรองรับความเสียหายจากแผ่นดินไหว CAT bond รุ่นนี้แบ่งเป็น 2 tranche ตามความเสียหายที่ต้องจ่ายชดเชย โดยกำหนด Spread อยู่ในช่วง 5.0-8.75%

ผู้ลงทุน CAT bond เกือบทั้งหมดเป็นผู้ลงทุนสถาบัน ได้แก่ กองทุนเฮดจ์ฟันด์ (hedge funds) และกองทุนบำเหน็จบำนาญ เป็นต้น ส่วนผู้ลงทุนบุคคลสามารถลงทุน CAT bond ได้ผ่านกองทุนรวมและกองทุนปิดซึ่งลงทุนใน CAT bond หลายรุ่น แต่ละรุ่นครอบคลุมเหตุการณ์ภัยพิบัติและพื้นที่ที่ต่างกัน จึงเป็นการกระจายความเสี่ยงและจำกัดความเสียหายไปในตัว นอกจากนี้ CAT bond ยังมีลักษณะเป็นหุ้นกู้มีประกัน ดังนั้นผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืนหากบริษัทประกันภัยและบริษัทประกันภัยต่อเลิกกิจการหรือล้มละลาย เนื่องจาก SPV ซึ่งเป็นผู้ออก CAT bond จะทำหน้าที่รับเบี้ยประกันจากบริษัทประกันภัยหรือบริษัทประกันภัยต่อ และบริหารเงินที่ได้จากการออก CAT bond ให้งอกเงยเพื่อใช้จ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ย โดย SPV แม้จะถูกจัดตั้งโดยบริษัทประกันภัยหรือบริษัทประกันภัยต่อแต่เป็นนิติบุคคลที่แยกออกจากบริษัทประกันภัยหรือบริษัทประกันภัยต่อ จึงไม่ได้รับผลกระทบหากบริษัทเลิกกิจการหรือล้มละลาย

ในขณะที่เหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปมีความเชื่อมโยงต่ำ กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การลงทุนใน CAT bond นอกจากจะให้อัตราผลตอบแทนที่น่าสนใจแล้วยังเป็นการช่วยกระจายความผันผวนของผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุน และในแง่ของการออก CAT bond ยังเป็นการช่วยบริษัทประกันในการถ่ายโอนความเสี่ยง ทำให้บริษัทสามารถให้การประกันได้ในขอบเขตที่กว้างขึ้น ช่วยลดภาระของภาครัฐในการบรรเทาความเสียหายที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศได้

เชื่อว่าไม่นาน น่าจะได้เห็น CAT bond ในตลาดตราสารหนี้ไทยของเราบ้าง

All Blogs