• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Apr. 26, 2021
ตราสารหนี้ (อนุ) รักษ์แรด

บอนด์รักษ์ป่า รักษ์อากาศ รักษ์น้ำ ก็มีแล้ว ถ้าจะมี บอนด์รักษ์แรด อีกอย่างจะเป็นไรไป ใช่ค่ะ อ่านไม่ผิด!

Rhino Impact Bond หรือ ตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์แรด เป็นตราสารหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินทุนไปใช้ในโครงการเพิ่มจำนวนประชากรแรดที่ลดลงอย่างมากจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีแรดทั้งหมด 5 สายพันธุ์จำนวนเพียง 29,000 ตัว ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแอฟริกาใต้ โดยมากกว่า 80% เป็นสายพันธุ์แรดขาว ขณะที่สายพันธุ์แรดดำจากที่เคยมีมากถึง 65,000 ตัวในปี 1970 ปัจจุบันกลับเหลืออยู่เพียง 5,500 ตัว

การลดลงของจำนวนแรดมีสาเหตุหลักจากการล่าอย่างผิดกฎหมายเพื่อเอานอไปบริโภคและทำเครื่องราง หน่วยงานดูแลสัตว์ป่าต้องใช้เงินจำนวนมากในการป้องกันการล่าอย่างผิดกฎหมาย โดยเงินทุนส่วนใหญ่ที่ใช้ได้มาจากการบริจาค และยังต้องแบ่งเงินบางส่วนไปใช้ในการอนุรักษ์ด้วย แต่เงินบริจาคมีจำนวนไม่แน่นอน อีกทั้ง รายได้จากการท่องเที่ยวปีที่แล้วก็ลดลงเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องหาเงินเพิ่ม! จึงเป็นที่มาของการออกตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์แรด

ตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์แรด จะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยระหว่างทาง แถมนักลงทุนมีโอกาสจะสูญเงินต้นบางส่วนหากเมื่อครบกำหนดอายุตราสารแล้วจำนวนแรดกลับยังลดลง จึงเสมือนนักลงทุนจะถูกเปลี่ยนสถานะเป็นผู้บริจาคแทน แต่ถ้าประชากรแรดมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงจะคงสถานะเป็นนักลงทุน เพราะจะได้รับผลตอบแทนพร้อมเงินต้นคืน และหากจำนวนแรดเพิ่มขึ้นเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ ก็จะได้รับผลตอบแทนในอัตราที่สูงเป็นพิเศษ พูดง่ายๆ ตราสารหนี้รักษ์แรดนี้จ่ายผลตอบแทนตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น (outcome payments) นักลงทุนจึงต้องเผื่อใจยอมรับที่จะเป็นผู้บริจาคแทนการลงทุน

ตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์แรดเป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ฉบับแรกของโลกที่ จะออกโดย International Bank for Reconstruction and Development (IBRD) ในนามของ Rhino Impact Investment ซึ่งก่อตั้งโดยสมาคมสัตววิทยาลอนดอน (Zoological Society of London) คาดว่าจะออกช่วงกลางปี 2564 นี้ มูลค่า 670 แรนด์แอฟริกาใต้ หรือราว 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อายุ 5 ปี เงินทุนที่ได้จะนำไปใช้เพิ่มจำนวนแรดดำที่อาศัยอยู่ใน 2 อุทยานแห่งชาติที่แอฟริกาใต้ โดยมีเป้าหมายว่าประชากรแรดดำจะต้องเพิ่มขึ้นปีละ 4% ตลอดช่วงอายุตราสาร

หากครบ 5 ปี และแรดดำมีจำนวนเพิ่มขึ้น กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility) จะเป็นผู้จ่ายคืนเงินต้นและผลตอบแทนให้แก่นักลงทุน กองทุนนี้ก่อตั้งตามอนุสัญญาจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 1992 ณ เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล มีสมาชิก 40 ประเทศร่วมจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน

ที่ผ่านมามีตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนอย่าง Green Bond, Social Bond และ Sustainability Bond ที่ระดมเงินทุนไปใช้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ แหล่งน้ำ รวมถึงช่วยลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ วันนี้กำลังจะมีตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์แรดที่จะช่วยระดมเงินทุน ลดการพึ่งพาเงินบริจาคที่มีความไม่แน่นอน และรายได้จากท่องเที่ยวที่ลดลงซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะกลับมาเป็นปกติ ที่สำคัญ! ช่วย #save แรด แถมผลพลอยได้คือ สัตว์ป่าอื่นๆ ที่ถูกล่าและมีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์ ก็ได้รับการดูแลด้วย

ดูเหมือนตราสารหนี้เป็นเครื่องมือที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นในการเชื่อมโยงตลาดทุนกับสังคมสิ่งแวดล้อมให้พัฒนาควบคู่ไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน

All Blogs