Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Nov. 04, 2019
จีน: จากผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในโลก...
สู่ผู้นำการออกตราสารหนี้สีเขียว (Green bond)

ประเทศจีนเคยถูกจัดอันดับเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนเป็นอันดับหนึ่งของโลกในปี 2015 แต่ปัจจุบันในปี 2019 จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดตราสารหนี้สีเขียว (green bond) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดโลกร้อน โดยในปี 2018 จีนมีมูลค่าการออก green bond สูงเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา และคาดว่าในปี 2019 มูลค่าการออก green bond ของจีนจะสูงถึง 300 พันล้านหยวน (คิดเป็นเงินไทยราว 1.35 ล้านล้านบาท) ซึ่งมากเป็น 2 เท่าของมูลค่าการออกหุ้นกู้รวมทั้งปีของไทยเลยทีเดียว

ผู้ออก Green bond ส่วนใหญ่ในจีนมาจากภาคขนส่ง (Clean transport) โดยมีสัดส่วนถึง 54% ซึ่งมีผู้ออกรายใหญ่คือ กิจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนใน กวางโจว นานจิง และเฉิงตู รองมาคือ บริษัทในกลุ่มพลังงานทางเลือกซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม (Clean energy) 22% และกิจการน้ำ (10%) ผู้ออกจำนวนมากเป็นสถาบันการเงินและรัฐวิสาหกิจ โดยมีสถาบันการเงินในประเทศเป็นผู้ลงทุนหลัก ทั้งนี้ รัฐบาลจีนมีการออกมาตรการต่างๆเพื่อจูงใจให้ลงทุนใน Green bond อาทิ สามารถใช้เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากธนาคารกลาง การให้เงินสนับสนุนเพื่อชดเชยอัตราดอกเบี้ยของ Green bond และ Green loan เป็นต้น

แม้ว่า Green bond ส่วนใหญ่ในจีนจะเสนอขายต่อนักลงทุนสถาบัน แต่ก็เริ่มมีการออก Green bond เสนอขายต่อนักลงทุนรายย่อยโดยเฉพาะ เช่น Green bond ที่ออกโดยธนาคารพัฒนาจีนในปี 2017 เพื่อโครงการอนุรักษ์แหล่งน้ำแถบแม่น้ำแยงซีเกียง และเริ่มมีการออก Green bond ขายผ่าน Bond connect ซึ่งเป็น platform ที่เปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในตลาดตราสารหนี้จีนได้โดยตรง นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนา Green bond index ที่หลากหลายมากขึ้น

การเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของตลาด Green bond มาจากการที่รัฐบาลจีนมีนโยบายในระดับชาติเพื่อส่งเสริมระบบการเงินสีเขียว (Green Financial System) และทำให้เกิด Green transformation ของประเทศ นโยบายนี้จะสนับสนุนการระดมทุน และการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดมลภาวะโดยรวม ซึ่งประกอบไปด้วย การพัฒนาตลาด Green bond/ credit การสนับสนุน Green investment การจัดตั้ง Green fund และ การส่งเสริมตลาดซื้อขาย Carbon finance ส่วนหนึ่งของนโยบายนี้ ได้แก่

• แผนพัฒนาให้ฮ่องกงเป็นศูนย์การระดมทุนในโครงการที่มีส่วนช่วยลดโลกร้อน (Green finance) ในเขต Greater bay area ซึ่งประกอบด้วย กวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในยุทธศาสตร์ Belt and Road ของจีน ทั้งนี้ รัฐบาลฮ่องกงเพิ่งออกพันธบัตร Green bond รุ่นแรกไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเพื่อนำไปลงทุนในโครงการ Belt and Road

• การส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม green bond ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ Green panda bond คือผู้ออกต่างประเทศมาออก Green bond ในจีนเป็นสกุลเงินหยวน Green belt and road bond คือ Green bond ที่ออกเพื่อระดมทุนในโครงการก่อสร้างตามยุทธศาสตร์ Belt and Road, Green Municipal bond, Green + poverty alleviation bond และ Green perpetual bond เป็นต้น

• การจัดทำข้อตกลง One Belt One Road Green investment Principle (GIP) เพื่อเป็นกรอบแนวทางส่งเสริมการลงทุนในโครงการสีเขียวสำหรับ Belt and Road โดยมีสถาบันการเงินใหญ่กว่า 30 แห่งทั่วโลกตกลงให้การสนับสนุน และคาดว่าจะกลายเป็น platform สำคัญในอนาคต ข้อตกลงดังกล่าวเป็นไปตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris agreement on Climate change)

จะเห็นได้ว่าจีนมาไกลมาก จากผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในโลก สู่ผู้นำการออกตราสารหนี้สีเขียว โดยสามารถผนวกแนวทางระดมทุนแบบรักษ์โลกเข้ากับแผนยุทธศาสตร์ Belt and Road ของประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยและอาเซียนยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยไทยเพิ่งมีการออก Green bond ไปเพียง 3 รุ่น (จาก 3 บริษัท คือ บีกริมพาวเวอร์ บีทีเอส และ พลังงานบริสุทธิ์) แต่คาดว่าหากได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผนวกกับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลาด green bond จะเติบโตมากขึ้นในอนาคตอันใกล้

All Blogs