จับตาหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ของจีน
  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Dec 07, 2018
จับตาหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ของจีน

Perpetual Bonds หรือหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ของไทยมีการออกครั้งแรกในปี 2012 แต่ยังไม่เป็นที่สนใจของตลาดมากนัก จนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ออกเริ่มให้ความสนใจและนิยมออกเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ซึ่งคล้ายกันกับหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ในประเทศจีนที่ได้รับความนิยมในการออกจากภาคธุรกิจและนักลงทุนให้ความสนใจอย่างมากในการซื้อลงทุนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และในปีนี้มีหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ของจีนหลายรุ่นที่ผู้ออกมีสิทธิขอไถ่ถอนก่อนกำหนดได้ แต่มีผู้ออกบางรายกลับยังไม่ใช้สิทธิขอไถ่ถอน จนก่อให้เกิดความกังวลของนักลงทุนว่าจะได้รับเงินต้นคืนเมื่อไหร่เพราะนักลงทุนต่างก็คาดหวังว่าจะได้รับเงินคืนเมื่อผู้ออกเริ่มมีสิทธิขอไถ่ถอนได้ก่อนกำหนดภายในอีก 3-5 ปีนับจากวันที่ออก แล้วหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ของไทยล่ะ จะยังไง?

จากความกังวลเรื่องฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ภาครัฐกำหนดมาตรการต่างๆ รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดของธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่อในกับธุรกิจในภาคอสังหาฯ

เพื่อบรรเทาปัญหา ทำให้ภาคธุรกิจที่ส่วนมากมีสัดส่วนภาระหนี้ที่สูงต้องหันไประดมทุนผ่านตราสารหนี้ที่เรียกว่า Perpetual Bond ด้วยเหตุผลหนึ่งที่ในทางบัญชีจะนับเป็นส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) ซึ่งไม่ทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) สูงขึ้น

ในเดือนตุลาคม 2013 บริษัท Wuhan Metro ได้ออกตราสารหนี้ที่มีคุณลักษณะคล้ายกับ Perpetual Bond เป็นครั้งแรกเพียงแต่ผู้ออกจะไม่สามารถเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยได้โดยไม่มีเงื่อนไข แต่รุ่นอื่นที่ออกตามมาในภายหลังจะถูกกำหนดให้ผู้ออกสามารถเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยได้โดยไม่มีเงื่อนไขเหมือน Perpetual Bond ทั่วไป เนื่องด้วยความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทส่วนใหญ่ที่ค่อนข้างสูงทำให้ Perpetual Bond ได้รับความนิยมจากผู้ออกอย่างต่อเนื่อง ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ประเทศจีนมีมูลค่าการออก Perpetual Bond สูงถึง $66 พันล้านในปี 2017 จากมูลค่าการออก Perpetual Bond ทั่วโลกที่ $234 พันล้าน จีนขึ้นเป็นประเทศที่มีมูลค่าการออก Perpetual Bond สูงที่สุดในโลกแซงประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันจีนมีมูลค่าคงค้างของ Perpetual Bond สูงถึง $287 พันล้าน

Perpetual Bond ในประเทศจีน ส่วนใหญ่จะกำหนดให้สามารถขอไถ่ถอนคืนก่อนกำหนดได้ครั้งแรกในอีก 3-5 ปีนับจากวันที่ออก และมักจะไม่ได้เป็นตราสารหนี้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond) หากผู้ออกไม่ขอไถ่ถอนเมื่อถึงกำหนดก็มักจะต้องจ่ายคูปองในอัตราที่สูงขึ้นราว 300-500 bps. ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงขึ้นค่อนข้างมาก ดังนั้นนักลงทุนจึงคาดว่าผู้ออกจะต้องขอไถ่ถอนคืนเมื่อถึงกำหนดเวลาที่ทำได้ โดย Perpetual Bond ที่จะครบกำหนดขอไถ่ถอนได้มีจำนวนค่อนข้างสูงในช่วง 3-4 ปีนี้ ที่กว่า 93% ออกโดยรัฐวิสาหกิจจีนที่มีอันดับเครดิตภายในประเทศ (National credit rating) ตั้งแต่ AA+ ขึ้นไป

ในปี 2018 จีนมี Perpetual Bond ที่จะสามารถเริ่มขอไถ่ถอนได้ครั้งแรกราว $8.4 พันล้าน และจะเพิ่มขึ้นถึง $48 พันล้านในปี 2020 แต่เนื่องจากสถานการณ์สภาพคล่องในประเทศที่ตึงตัวจากมาตรการของภาครัฐเพื่อบรรเทาภาวะฟองสบู่จึงทำให้ตราสารหนี้ภาคเอกชนมีอัตราการผิดนัดชำระในปี 2018 แล้วกว่า 3.6% สูงขึ้นจาก 0.7% ในปีที่แล้ว ส่วนหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ก็เริ่มมีผู้ออกภาคเอกชนบางรายที่ยังไม่ขอไถ่ถอนคืนเมื่อถึงกำหนดที่ทำได้ (First call date) รวมแล้ว 3 รุ่นในปีนี้ ได้แก่ China Jilin Forest Industry Group (ก.พ.2018) ปรับคูปองเพิ่มขึ้น 300 bps.ในหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์มูลค่า 1 พันล้านหยวน ต่อมา Hyflux (ก.พ. 2018) ปรับคูปองเพิ่มขึ้น 200 bps. เป็น 8% สำหรับหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์มูลค่า $400 ล้าน และล่าสุด Hainan Airline Group (ต.ค. 2018) ปรับคูปองเพิ่มขึ้น 300 bps. เป็น 8.78% สำหรับหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์มูลค่า 2.5 พันล้านหยวน

ส่งที่น่าจับตาคือ จะมีหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์อีกมากแค่ไหนที่ต้องยอมจ่ายคูปองในอัตราที่สูงขึ้นกว่า 500 bps. ถ้าไม่สามารถขอไถ่ถอนคืนได้ก่อนกำหนด บริษัทที่ไม่สามารถขอไถ่ถอนหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์คืนได้ก่อนกำหนดอาจจะยังไม่มีถูกปรับลดอันดับเครดิตในทันที แต่ผลกระทบจะมีต่อต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นแน่นอนซึ่งสุดท้ายแล้วจะมีผลต่อความสามารถในการ Refinance ของบริษัท

สำหรับหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ของไทย มีมูลค่าคงค้างรวม 74,947 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2% ของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยรุ่นแรกที่จะขอไถ่ถอนได้ก่อนกำหนดคือในเดือนตุลาคม 2019 ซึ่งคงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่นักลงทุนไทยคงต้องคอยติดตามกัน

All Blogs