• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Aug. 21, 2018
ILB ทางเลือกของการลงทุนในภาวะเงินเฟ้อเริ่มขยับขึ้น

ในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตขึ้นต่อเนื่องอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับสูงขึ้น นักลงทุนบางส่วนจึงหันไปให้ความสนใจกับการลงทุนในหุ้น หรือย้ายไปเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคามักจะปรับตัวตามทิศทางของอัตราเงินเฟ้อ ในภาวะเช่นนี้การลงทุนในตราสารหนี้อาจถูกลดความสำคัญลง แต่จริงๆแล้วยังมีตราสารหนี้ชนิดหนึ่งที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เงินเฟ้อเริ่มขยับขึ้นโดยตราสารหนี้ชนิดนี้จะให้อัตราผลตอบแทนอ้างอิงตามอัตราเงินเฟ้อ เรียกว่า พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ หรือ Inflation Linked Bond (ILB)เป็นพันธบัตรที่เสนอขายโดยกระทรวงการคลัง

โดยปกติตราสารหนี้ทั่วไปจะจ่ายดอกเบี้ยคงที่ แต่สำหรับ ILB ดอกเบี้ยจ่ายจะประกอบด้วย 2 ส่วนคือ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง(Real Yield) ซึ่งถูกกำหนดไว้คงที่ และดอกเบี้ยจ่ายส่วนที่ขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อในช่วงนั้นๆโดยอ้างอิงกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์ นอกจากอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่จะผันแปรตามเงินเฟ้อแล้ว เงินต้นเองก็ปรับสูงขึ้นตามเงินเฟ้อที่สูงขึ้นด้วยทำให้นักลงทุนสามารถรักษาอำนาจซื้อให้เท่าเดิม ไม่ต้องกังวลว่าจะได้ผลตอบแทนต่ำกว่าเงินเฟ้อ

นักลงทุนอาจสงสัยว่าหากเงินเฟ้อติดลบ จะทำให้เงินต้นของเราลดลงด้วยหรือไม่ สำหรับพันธบัตร ILB นี้เงินต้นจะไม่ถูกปรับลดลงตามอัตราเงินเฟ้อ เพราะรัฐบาลคุ้มครองเงินต้น 100% ดังนั้น ILB จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนในการกระจายความเสี่ยงของพอร์ทการลงทุนในเวลาที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นนักลงทุนสามารถดูวิธีการคำนวณได้จากบทความ“พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ....เงินต้นไม่หาย แถมงอกเงยไม่น้อยหน้าเงินเฟ้อ”

แล้วเราจะลงทุนใน ILB ได้อย่างไรในปัจจุบันมี ILB ที่ยังไม่ครบกำหนดอายุอยู่ 2 รุ่นคือ รุ่นอายุคงเหลือประมาณ 3 ปี และ 10 ปี ได้แก่ ILB217Aและ ILB283A ซึ่งจ่ายดอกเบี้ยคงที่ (ยังไม่บวกเงินเฟ้อ) ที่ 1.2% และ 1.25% ตามลำดับ

นักลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนในILB ผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ลงทุนใน ILB โดยเป็นกองทุนรวมที่จำหน่ายแก่นักลงทุนทั่วไปปัจจุบันมี 2 กอง คือ KTILBกองทุนเปิดกรุงไทยพันธบัตรรัฐบาลชดเชยเงินเฟ้อและ KTILFกองทุนเปิดกรุงไทยอ้างอิงเงินเฟ้อ ส่วนผลการดำเนินงานของกองทุนรวมประเภทนี้พบว่ามักผันแปรไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราเงินเฟ้อ แปลว่าในช่วงที่เงินเฟ้อต่ำหรือติดลบก็ให้ผลตอบแทนที่ติดลบได้

ในช่วงที่ผ่านมา พันธบัตร ILB ไม่ได้ถูกกล่าวถึงมากนัก เพราะอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยอยู่ต่ำกว่ากรอบนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยมาเป็นเวลานาน ทำให้อัตราผลตอบแทนของ ILB ไม่ได้น่าสนใจ แต่ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อทยอยปรับขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2017 จนเริ่มเข้าอยู่ในกรอบนโยบาย และมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเช่นนี้ ทำให้ ILB เป็นทางเลือกหนึ่งที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม

All Blogs