Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Apr. 11, 2019
ลูกหนี้รายใหญ่ในตลาดตราสารหนี้ไทย

คำว่า “ลูกหนี้” อาจแสดงถึงสถานะที่เป็นรองที่ต้องขอยืมเงินคนอื่น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็แสดงถึงการมีความน่าเชื่อถือ ถ้าไม่อย่างนั้นก็คงไม่มีใครยอมให้กู้เงิน

แล้วใครเป็นผู้กู้หรือลูกหนี้รายใหญ่ในตลาดตราสารหนี้ไทย?

กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่ 4.32 ล้านล้านบาทในปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 13.06 ล้านล้านบาทในปี 2561 มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะเป็นแหล่งระดมเงินทุนให้กับทั้งภาครัฐและเอกชนที่สามารถจะเลือกได้ว่าจะระดมเงินทุนจากภายในประเทศในรูปแบบของตราสารหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องค่าเงินและให้เกิดความสมดุลกับหุ้นสามัญที่เป็นส่วนของเจ้าของ

โดยลูกหนี้รายใหญ่ที่สุดก็คือรัฐบาล มีมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่ออกโดยกระทรวงการคลังคิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าตราสารหนี้คงค้างทั้งหมดถึง37%และมีอายุการออก (Issue Term) เฉลี่ยกว่า 18 ปี ลูกหนี้รายใหญ่อันดับ 2 คือบริษัทเอกชนต่างๆ มีสัดส่วนอยู่ที่ 29%อายุการออกเฉลี่ย 8 ปี ตามมาด้วยลูกหนี้อันดับ 3 คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย มีสัดส่วนที่ 27% อายุเฉลี่ย 1 ปีครึ่ง อันดับ 4 และ 5 คือ รัฐวิสาหกิจมีสัดส่วน 6 % และหน่วยงานต่างประเทศที่ออกตราสารหนี้ในประเทศไทย มีสัดส่วนราว 1%

หากจำแนกเป็นภาครัฐและภาคเอกชน จะเห็นว่าภาครัฐที่รวมถึงกระทรวงการคลัง ธปท. และรัฐวิสาหกิจ มีสัดส่วนมูลค่าคงค้างรวมกันถึง 70% ของตลาดตราสารหนี้ไทย ส่วนภาคเอกชนมีสัดส่วนเพียง 30% ในจำนวนนี้ เกือบครึ่งหนึ่งเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กลุ่ม SET 100รองลงมากว่า 11% เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ภาษีการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมที่คาดว่าน่าจะบังคับใช้ในช่วงกลางปีนี้ นอกจากจะมีผลกระทบต่อนักลงทุนที่ลงทุนผ่านกองทุนโดยอย่างน้อยจะทำให้ได้รับผลตอบแทนสุทธิหลังหักภาษีต่ำลงแล้ว(ติดตามอ่านผลกระทบต่อนักลงทุนได้จากบทความ “ภาษีการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ผลกระทบต่อนักลงทุน”) ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ออกที่มีสถานะเป็นลูกหนี้ก็อาจจะเผชิญกับแรงกดดันจากนักลงทุนที่ต้องการอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อชดเชยกับภาระภาษี

นี่อาจเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้ทั้งนักลงทุนและลูกหนี้ต้องมีการปรับตัว รวมถึงตลาดตราสารหนี้ไทยมีการเปลี่ยนแปลงไป จะมากน้อยแค่ไหน ในทิศทางใด เป็นสิ่งที่น่าสนใจที่สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) จะได้นำมาเสนอในวาระต่อไป

All Blogs