Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    August 01, 2017
กองทุน AI

กองทุน AI ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงกองทุนที่มี A.I. (Artificial Intelligence) หรือหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ที่เก่งเหนือมนุษย์มาลงทุนให้แต่อย่างใด แต่กองทุน AI ที่พูดถึงนี้จะหมายถึง กองทุนสำหรับผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย (Accredited Investor) กองทุน AI นี้เป็นกองทุนที่ออกมาเพื่อนักลงทุนกลุ่มพิเศษโดยเฉพาะที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์กลต. โดยผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งมีคุณสมบัติดังนี้

กลุ่มแรก : ผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional Investor: II)

เช่น ธนาคารพาณิชย์ กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม บริษัทประกัน เป็นต้น


กลุ่มที่สอง : ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่มีคุณสมบัติตามที่กลต.กำหนด (High Net Worth Investor: HNW)

มีลักษณะดังนี้
a. กรณีเป็นบุคคลธรรมดา: ต้องมีคุณสมบัติ“ข้อใดข้อหนึ่ง”ต่อไปนี้ คือ
- สินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป หรือ
- มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป หรือ
- มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้สามารถพิจารณารวมกับคู่สมรสได้
b. กรณีเป็นนิติบุคคล : ต้องมีคุณสมบัติ“ข้อใดข้อหนึ่ง”ต่อไปนี้ คือ
- มีส่วนของผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป หรือ
- มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป

จากคุณสมบัติที่กำหนดไว้นี้นักลงทุนที่มิใช่รายย่อยกลุ่มนี้จึงถูกคาดหวังว่าจะเป็นกลุ่มผู้ลงทุนที่มีศักยภาพในการพิจารณาการลงทุนและรับความเสี่ยงได้สูง (Sophisticated)กล่าวอย่างง่าย คือ เป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีเงินลงทุนมากมีความรู้และความเข้าใจถึงความเสี่ยงที่มากกว่าปกติในสิ่งที่จะลงทุน และพร้อมรับความเสี่ยงดังกล่าว เพื่อโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

แล้วทำไมต้องมีกองทุนโดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนประเภท AI ด้วยล่ะ? เป็นความตั้งใจดีของกลต.โดยที่ต้องการเพิ่มโอกาสให้บริษัทเอกชนทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางโดยเฉพาะบริษัทที่ยังไม่มีอันดับเครดิตหรือไม่มีเรตติ้งได้มีโอกาสระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ที่หลากหลายมากขึ้น และขณะเดียวกันก็เกิดประโยชน์ต่อผู้ลงทุนที่มีเงินทุนมาก มีประสบการณ์และความรู้ความเข้าใจในการลงทุน และพร้อมจะรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้มีทางเลือกการลงทุนที่มากขึ้นอีกด้วยโดยกลต.จะยังคงมีการคุ้มครองผู้ลงทุนในระดับที่เหมาะสม

สำหรับหลักการเสนอขายกองทุน AI เบื้องต้นนั้น กลต.ระบุว่า

1. บริษัทจัดการลงทุนสามารถจัดตั้ง “กองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย(กองทุน AI)” ที่สามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่มีเรตติ้งต่ำกว่าระดับInvestment Grade(ต่ำกว่าระดับ BBB-) หรือตราสารหนี้ที่ไม่มีเรตติ้ง(Non-rated) ได้ ซึ่งนิยามตราสารหนี้ที่ไม่มีเรตติ้ง คือ ตราสารหนี้ที่ไม่มีเรตติ้งทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ ไม่มีเรตติ้งของผู้ออก (Non-rating of Issuer) ไม่มีเรตติ้งของตัวตราสาร (Non-rating of Issue) และไม่มีเรตติ้งของตัวผู้ค้ำประกันตราสารหนี้ (Non-rating of Guarantor)

2. ต้องแสดงคำเตือนในเอกสารการขาย (Fact Sheet) ด้วยว่า “ตราสารหนี้ดังกล่าวเสนอขายเฉพาะแก่ AI เท่านั้น”

3. กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำครั้งแรกไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท

4. ต้องเปิดเผยข้อมูลคำเตือนเพิ่มเติมเรื่องความเสี่ยงในการลงทุนกองทุน AI

5. ผู้ให้บริการต้องมีแผนหรือระบบปฏิบัติงานในการขายที่ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ลงทุนมีคุณสมบัติตามเกณฑ์การเป็นนักลงทุนที่มิใช่รายย่อย (Accredited Investor) ตามที่ประกาศกำหนด โดยต้องมีกระบวนการประเมินความรู้ความเข้าใจของผู้ลงทุน รวมทั้งต้องให้ข้อมูลที่จำเป็นและเพียงพอก่อนตัดสินใจลงทุน

6. ต้องจัดทำกระบวนการทำความรู้จักลูกค้า (KYC/CDD : Know Your Customer / Client Due Diligent) และจัดให้ผู้ลงทุนทำแบบทดสอบความสามารถในการรับความเสี่ยง (Suitability Test)

หลายท่านที่ไม่เข้าข่ายเป็นนักลงทุนประเภทAI อาจเกิดอาการน้อยใจว่าทำไมต้องมีการแบ่งชนชั้นแบบนี้ด้วย ทั้งนี้ต้องขอบอกว่าอันที่จริงแล้วเป็นทางเลือกที่ดีในการปกป้องนักลงทุนทั่วไปให้ปลอดภัยมากกว่า เนื่องจากหากเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วไปสามารถลงทุนในกองทุน AI ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนทั่วไปอาจทำให้นักลงทุนทั่วไปต้องรับผลขาดทุนที่สูงเกินกว่าจะรับได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสียหายในวงกว้างได้ การแบ่งประเภทนักลงทุนให้ชัดเจนจึงเป็นแนวทางที่กลต.เลือกใช้ในการดูแลนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม สำหรับท่านที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์นักลงทุนประเภท AIก็ไม่ควรมองที่ผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว เนื่องจากกองทุน AI นั้นจะมีความเสี่ยงที่สูงกว่ากองทุนรวมทั่วไป นักลงทุนควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนลงทุนโดย

1. ศึกษาข้อมูลการลงทุนจากหนังสือชี้ชวน (Prospectus)โดยเฉพาะในส่วนของสินทรัพย์ที่ลงทุนว่ามีการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดบ้าง ความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ลงทุนมีอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น กองทุน AI ที่ลงทุนในตราสารหนี้ High Yield แบบมีระยะเวลาแน่นอน (High Yield bond term fund)จะมีการระบุอย่างชัดเจนว่าลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทใดบ้าง และมีเรตติ้งระดับใดหรือไม่มีเรตติ้ง ดังนั้นนักลงทุนจะสามารถประเมินความเสี่ยงของความมั่นคงของบริษัทแต่ละแห่งได้ในระดับหนึ่งก่อนจะเลือกลงทุนในกองทุนดังกล่าว

2. หากมีข้อสงสัยใด ๆ ในหนังสือชี้ชวน ควรสอบถามผู้จัดจำหน่าย (Underwriter)ให้ชัดเจนเพื่อรักษาผลประโยชน์ต่อตัวผู้ลงทุน เพราะอย่าลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงควรศึกษาข้อมูลโดยละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน

All Blogs