Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Feb. 18, 2020
Green bond ในอาเซียน

ปัญหาโลกร้อนและมลภาวะ ทำให้เกิดการตื่นตัวถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และทำให้การลงทุนและระดมทุนในโครงการเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านตราสารหนี้สีเขียว หรือ green bond เติบโตขึ้นอย่างมากทั่วโลก แล้วประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ก้าวทันกระแสการเติบโตของตลาด green bond หรือไม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการสนับสนุนอย่างไรบ้าง

ประเทศในกลุ่มอาเซียนเริ่มมีการออก green bond ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่มีมูลค่ารวมของการออก green bond สูงที่สุดในกลุ่มอาเซียน (ไม่นับสิงคโปร์) เพราะมีรัฐบาลเป็นผู้นำร่องในการออกตราสารหนี้อิสลามสีเขียว หรือ Green sukuk มูลค่ารวมสูงถึง 1.25 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อระดมทุนไปใช้ลงทุนในโครงการอนุรักษ์พลังงานต่างๆ อาทิ พลังงานทดแทน การบริหารจัดการขยะ การคมนาคมสะอาด เป็นต้น และตามมาด้วยการออก Green bond จากผู้ออกรัฐวิสาหกิจ คือ PTSMI ซึ่งระดมทุนในสกุลรูปีอินโดนีเซียมูลค่ารวม IDR 3 ล้านล้านในปีที่ผ่านมาเพื่อนำไปปล่อยกู้ให้โครงการอนุรักษ์พลังงาน

ฟิลิปปินส์ ถือเป็นประเทศแรกในกลุ่มอาเซียนที่มีการออก green bond ภายใต้มาตรฐาน ASEAN green bond standard ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการออกจากภาคการเงิน ในปี 2019 ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของฟิลิปปินส์คือ Bank of Philippines Islands (BPI) ออก green bond ในตลาดยุโรปเป็นสกุลสวิสฟรังค์อายุ 2 ปี มูลค่า CHF 100 ล้านจ่ายดอกเบี้ยในอัตราติดลบ -0.02% เป็นครั้งแรก ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์มีการออก green bond หลายรุ่นตั้งแต่ปี 2016 จากกลุ่มธุรกิจพลังงานทางเลือก

สำหรับสิงคโปร์ การออก green bond ส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มธนาคาร เช่น ICBC, DBS, HSBC ซึ่งจะนำเงินที่ได้ไปปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจสีเขียว ในรูปของ green loan

มาเลเซีย เริ่มมีการออก Green sukuk มาตั้งแต่ปี 2017 โดยรุ่นแรกเป็นการออกเพื่อใช้ก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จากนั้นก็มีการออก Green sukuk อีกหลายรุ่นส่วนใหญ่เพื่อนำไปใช้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และล่าสุดในปี 2019 มีการออก Hydro green sukuk เป็นครั้งแรกมูลค่า MYR 470 ล้าน เพื่อใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โดยหุ้นกู้นี้มีอายุยาวถึง18ปี

สำหรับประเทศไทยก็ถือว่าไม่น้อยหน้าประเทศอื่นในอาเซียน เพราะมีการออก green bond หลายรุ่นในปี 2019 อาทิ บมจ.บีทีเอส (BTS) ออก green bond มูลค่ารวม 1.3 หมื่นล้านบาท สำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้า บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ออก green bond มูลค่ารวม 1 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม รวมถึง บมจ.บีกริมพาวเวอร์ฯ มูลค่า3พันล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

เวทีการประชุมตลาดตราสารหนี้อาเซียน ASEAN bond market forum(ABMF) ที่กรุงมะนิลา เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ที่ผ่านมา ได้หยิบยกประเด็นการส่งเสริมการพัฒนาตลาด green bond มาหารืออย่างจริงจัง โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้เสนอมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมการออก green bond ของประเทศอาเซียน โดยจะให้เงินสนับสนุนภายใต้ Technical assistance program วงเงิน 500ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่ผู้ออก green bond ในการจัดจ้างผู้ประเมินรับรองความเป็น green bond ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงจะสนับสนุนการถ่ายทอดความรู้ให้เกิดองค์กรที่ทำหน้าที่ผู้ประเมินท้องถิ่นในแต่ละประเทศ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของผู้ออกในด้านการประเมินรับรองโครงการ

นอกจากนั้น ADB จะจัดทำ information platform เพื่อให้เป็นศูนย์กลางข้อมูลของ green bond ทุกรุ่นที่มีการออกโดยประเทศในอาเซียน ผ่าน Website Asianbondonline.org และเตรียมที่จะพัฒนาดัชนี ASEAN +3 green bond index ออกเผยแพร่ในเร็วๆนี้

แนวทางต่างๆเหล่านี้คาดว่าจะช่วยส่งเสริมศักยภาพและผลักดันการเติบโตทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานของตลาด Green bond ในอาเซียนให้ทัดเทียมตลาดสากลต่อไป

All Blogs