Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Oct. 12, 2020
เมื่อสายแฟ (ชั่น) แคร์โลก...Chanel และ Burberry ออก ESG bond

หากพูดถึง Chanel และ Burberry หลายท่านคงนึกถึงกระเป๋า เสื้อผ้า หรือน้ำหอม แต่รู้ไหม แบรนด์แฟชั่นระดับโลกเหล่านี้เพิ่มไลน์สินค้ารักษ์โลก “หุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน หรือ ESG bonds”

ESG bonds ก็คือ Green bond, Social bond หรือ Sustainability bond ที่ผู้ออกระดมทุนเพื่อนำเงินไปดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable development) โดยมุ่งพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และการมีธรรมาภิบาลที่ดี (Environmental, Social and Governance)

เมื่อ 10 กันยายน 2020 ที่ผ่านมา Burberry แบรนด์แฟชั่นหรูหราของประเทศอังกฤษเสนอขาย Sustainability bond มูลค่า 300 ล้านปอนด์ (390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นบริษัทแฟชั่นแห่งแรกที่ออก Sustainability bond โดยจะนำเงินทุนไปใช้กับโครงการ Sustainability framework ของบริษัทซึ่งครอบคลุมการสร้างอาคารสีเขียว (Green building) การจัดหาฝ้ายที่ปลูกภายใต้วิถีของความยั่งยืน และการพัฒนาหีบห่อบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable packaging)

หลังจากนั้น Chanel แบรนด์แฟชั่นชั้นนำของประเทศฝรั่งเศสก็ได้เสนอขาย Sustainability-linked bond ตามมาตรฐานของ ICMA Sustainability-Linked Bonds Principles ในวันที่ 24 กันยายน 2020 ซึ่งเป็นครั้งแรกของบริษัทแฟชั่นที่ออก bond ประเภทนี้ ด้วยมูลค่า 600 ล้านยูโร (700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อนำไปใช้กับโครงการที่ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกและปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปใช้พลังงานทดแทน

นอกจากบริษัทแฟชั่นชั้นนำระดับโลกแล้ว บริษัทพลังงานของประเทศส่งออกน้ำมันอย่าง บริษัท Saudi Electricity ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของซาอุดิอาระเบียประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก เพิ่งออก Green bond มูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็น Green bond รุ่นแรกของกลุ่มประเทศส่งออกน้ำมัน

ข้ามมาที่ฝั่งยุโรป บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สัญชาติเยอรมันอย่าง Daimler AG ก็เพิ่งออก Green bond มูลค่า 1 พันล้านยูโร เมื่อ 3 กันยายน 2020 เพื่อนำเงินไปพัฒนารถยนต์พลังงานสะอาด

ไม่เพียงเฉพาะภาคเอกชน รัฐบาลของประเทศต่างๆ ก็หันมาระดมทุนผ่าน ESG bond เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ได้แก่

• ประเทศสวีเดนโดย Swedish National Debt Office ออกพันธบัตรรัฐบาลสีเขียว (Sovereign green bond) ฉบับแรกของประเทศ มูลค่า 20 พันล้านโครนาสวีเดน (2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

• ประเทศเยอรมันออก Sovereign green bond ครั้งแรกของประเทศเช่นกัน ด้วยมูลค่า 6.5 พันล้านยูโร

• ประเทศฮังการีได้ออก Sovereign green bond สกุลเงินเยน มูลค่า 500 พันล้านเยน นับเป็น Sovereign green bond แรกที่ออกโดยนิติบุคคลต่างประเทศในตลาดตราสารหนี้ของประเทศญี่ปุ่น

• รวมถึง ประเทศอียิปต์ที่ออก Sovereign green bond แรกของกลุ่มประเทศอาหรับ มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำไปสนับสนุนโครงการสีเขียวต่างๆ เช่น การขนส่งและพลังงานทางเลือก

สำหรับประเทศไทย การออก ESG bond มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนของปี 2020 มีการออก ESG bond จากผู้ออกจำนวน 5 ราย มีมูลค่ารวม 49,800 ล้านบาท มากกว่าการออกทั้งปีในปี 2019 ที่ 30,040 ล้านบาท และในปี 2018 ที่ 10,120 ล้านบาท โดยในปี 2020 นี้ เริ่มมีการออก ESG bond จากหน่วยงานภาครัฐแล้วนอกเหนือไปจากบริษัทเอกชน ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังออก Sustainability bond เป็นครั้งแรกของรัฐบาลไทย มูลค่า 30,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ขยายเส้นทางรถไฟฟ้าและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ออก ESG bond มูลค่า 6,000 ล้านบาท และการเคหะแห่งชาติ 6,800 ล้านบาท ส่วนบริษัทเอกชนที่ออกในปีนี้ ได้แก่ บมจ.ปตท. และ บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ บริษัทพลังงานรายใหญ่ที่ออก Green bond มูลค่า 2,000 และ 5,000 ล้านบาท ตามลำดับ

ESG bond ช่วยให้ผู้ออกสามารถระดมทุนไปดำเนินโครงการต่างๆ ได้ ที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ส่วนนักลงทุนก็ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านการลงทุนในหุ้นกู้ในปีนี้ก็เหลือเวลาอีก 3 เดือน จะมีการออก ESG bond เพิ่มขึ้นอีกไหมนะ

All Blogs