Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Mar 03, 2020
มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 กับตราสารหนี้ (ตอนที่ 1)

หลายท่านคงจะพอทราบแล้วว่าประเทศไทยได้เริ่มใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ ฉบับที่ 9 เรื่องเครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9) เมื่อต้นปี 2563 นี้ แต่อาจจะยังไม่ทราบว่ามีผลกระทบต่อทุกประเภทธุรกิจที่มีเงินลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ โดยสถาบันการเงินที่มีความเกี่ยวข้องกับลูกหนี้ตามสัญญาเช่า เงินให้สินเชื่อ หุ้นสามัญ และตราสารหนี้ จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

วิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2551 ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาสินเชื่อซับไพรม์ในสหรัฐฯ ได้ให้บทเรียนครั้งสำคัญต่อตลาดการเงินโลกที่นำไปสู่การปรับปรุงมาตรฐานบัญชีให้เข้มงวดและสอดคล้องกับความเสี่ยงของกิจการมากขึ้น โดย TFRS 9 จะกำหนดให้กิจการต้องกันเงินสำรองเพื่อรองรับความเสียหายจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งเป็นมุมมองในเชิง Forward looking ต่างจากมาตรฐานบัญชีเดิมที่จะกันสำรองต่อเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว กิจการจึงมีความเสี่ยงที่จะมีเงินไม่เพียงพอที่จะกันสำรองและอาจไม่ทันการณ์ เปรียบเสมือนวัวหายแล้วค่อยล้อมคอก TFRS 9 จึงให้ล้อมคอกก่อนวัวจะหาย

TFRS 9 มีการปรับปรุงใน 3 ส่วน คือ 1) การจัดประเภทและการวัดมูลค่า 2) การด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน และ 3) การบัญชีป้องกันความเสี่ยง โดยในส่วนของตราสารหนี้จะเกี่ยวข้องกับสองส่วนแรกเป็นหลัก มาดูกันว่า TFRS 9 จะกระทบผู้ลงทุนในตราสารหนี้อย่างไรบ้าง

เริ่มที่ การจัดประเภทและวัดมูลค่า เป็นการพิจารณาลักษณะของตราสารหนี้ที่ลงทุนเพื่อจะได้ลงบัญชีให้ถูกประเภท โดยมี 2 เงื่อนไขในการพิจารณา ดังนี้

เงื่อนไขที่หนึ่ง: การพิจารณากระแสเงินสดตามสัญญาจากตราสารหนี้ที่ถือครองว่าประกอบด้วยเงินต้นและดอกเบี้ยเท่านั้นหรือไม่ (Solely Payment of Principal and Interest - SPPI) โดยดอกเบี้ยนั้นต้องครอบคลุมกระแสเงินสดที่สะท้อนมูลค่าเงินตามเวลา ความเสี่ยงด้านเครดิต รวมถึงความเสี่ยงสภาพคล่องด้วย

จากนิยามข้างต้น สามารถตีความได้ว่าถ้าเป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีความซับซ้อน (Plain vanilla bond) จะถือว่าเป็นไปตามเงื่อนไข SPPI ส่วนตราสารหนี้ที่มีความซับซ้อนก็ต้องพิจารณาคุณสมบัติเฉพาะของตราสารหนี้นั้นๆ

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ได้ทำการศึกษาและหารือกับผู้ร่วมตลาดถึงแนวทางในการพิจารณาตราสารหนี้ที่มีความซับซ้อนในปัจจุบันว่าแต่ละประเภทจะถือว่าเป็นไปตามเงื่อนไข SPPI หรือไม่ โดยได้ข้อสรุปดังนี้

o พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation-linked bond) พิจารณาว่าเป็นไปตามเงื่อนไข SPPI

o หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ (Perpetual bond) พิจารณาว่าเป็นไปตามเงื่อนไข SPPI ในกรณีที่มีการคิดดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยสะสมที่อาจมีการเลื่อนจ่ายเพราะจะครอบคลุมมูลค่าเงินตามเวลา

o หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง (Structured note) พิจารณาว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไข SPPI

o ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว พิจารณาว่าเป็นไปตามเงื่อนไข SPPI

o หุ้นกู้แปลงสภาพ หากการแปลงสภาพที่กำหนดจำนวนตราสารทุนที่สามารถแปลงสภาพได้ จะพิจารณาว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไข SPPI

o Basel III Bond หากข้อบังคับที่กำหนดเรื่องการเรียกเก็บขาดทุนจากผู้ถือตราสารชนิดนี้มีการระบุอย่างชัดเจนถึงเงื่อนไขที่ต้องดำรงไว้ในสัญญาของตราสาร จะพิจารณาว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไข SPPI

o หุ้นกู้ Securitization หากหุ้นกู้ดังกล่าวมีเงื่อนไขซึ่งก่อให้เกิดกระแสเงินสดหรือจำกัดกระแสเงินสดในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับการจ่ายเงินที่แสดงถึงเงินต้นและดอกเบี้ย จะพิจารณาว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไข SPPI

o Callable bond พิจารณาว่าเป็นไปตามเงื่อนไข SPPI

o Puttable bond พิจารณาว่าเป็นไปตามเงื่อนไข SPPI

ทั้งนี้ การพิจารณาข้างต้นเป็นเพียงแนวทางที่ ThaiBMA จัดทำขึ้นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ร่วมตลาดซึ่งสามารถติดตามได้จาก “แนวทางการพิจารณาตราสารหนี้ตามเงื่อนไข SPPI และ การพิจารณาสถานะ (Stage) ภายใต้ TFRS 9” จากเว็บไซต์Thai BMA ดังนั้น การกำหนดวิธีการบัญชีที่เหมาะสมต้องพิจารณาตามข้อกำหนดของ TFRS 9 และมาตรฐานการรายงานทางการเงินอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ

เงื่อนไขที่สอง: พิจารณาว่ากิจการหรือองค์กรมีเป้าหมายของการถือครองตราสารหนี้เพื่อวัตถุประสงค์อะไรใน 3 ข้อนี้ 1) เพื่อรับเงินต้นคืนและดอกเบี้ยตลอดตามสัญญาเท่านั้น (Hold to collect) หรือ 2) เพื่อรับกระแสเงินสดตามสัญญาเช่นเดียวกับ 1) และก็อาจขายในอนาคต (Hold to collect & Sell) หรือจะเป็น 3) เพื่อเก็งกำไรระยะสั้น (Hold for trading)

เมื่อพิจารณาตาม 2 เงื่อนไขแล้วจะทำให้สามารถจัดประเภทได้ว่าตราสารหนี้ที่ถือลงทุนอยู่ควรวัดมูลค่าแบบใด เป็นการวัดแบบ ราคาทุนตัดจำหน่าย (Amortized Cost- AC) หรือ มูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (Fair Value through Other Comprehensive Income - FVOCI) หรือ มูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (Fair Value through Profit or Loss - FVPL)

โดยหากประเมินแล้วพบว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่ 1 เรื่องเกณฑ์ SPPI และเงื่อนไขที่ 2 เรื่องการถือครองอยู่ในรูปแบบเพื่อรับเงินต้นคืนและดอกเบี้ยตลอดตามสัญญาเท่านั้น (Hold to collect) จะสามารถใช้วิธีบันทึกบัญชีแบบ ราคาทุนตัดจำหน่าย (Amortized Cost- AC) ส่วนกรณีที่สอง หากประเมินแล้วพบว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่ 1 เรื่องเกณฑ์ SPPI และเงื่อนไขที่ 2 เรื่องการถือครองอยู่ในรูปแบบเพื่อรับกระแสเงินสดตามสัญญาและก็อาจขายในอนาคต (Hold to collect & Sell) จะสามารถใช้วิธีบันทึกบัญชีแบบ มูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (Fair Value through Other Comprehensive Income - FVOCI) และในกรณีสุดท้าย หากประเมินแล้วไม่เป็นตามเงื่อนไขที่ 1 เรื่องเกณฑ์ SPPI หรือเงื่อนไขที่ 2 เรื่องการถือครองไม่ใช่ทั้งในรูปแบบ Hold to collect และ Hold to collect & Sell แต่อยู่ในรูปแบบเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น (Hold for trading) จะใช้วิธีบันทึกบัญชีแบบ มูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (Fair Value through Profit or Loss - FVPL)

ซึ่งการวัดมูลค่าถ้าตกอยู่ในสองรูปแบบแรก คือ ราคาทุนตัดจำหน่าย (Amortized Cost- AC) หรือ มูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (Fair Value through Other Comprehensive Income - FVOCI) การถือครองตราสารหนี้นั้นก็จะเข้าข่ายที่จะต้องตั้งสำรองเผื่อการด้อยค่า ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ TFRS 9 ส่วนที่สองเรื่องการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน

การด้อยค่านั้นคืออะไร และพิจารณาอย่างไร มาติดตามกันต่อในตอนหน้าครับ

All Blogs