Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Oct. 31, 2019
25 ปี ThaiBMA กับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทย

ThaiBMA จะครบรอบ 25 ปีของการเปิดดำเนินการในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 นี้ จากวันแรกที่มีหุ้นกู้ขึ้นทะเบียนในระบบ 29 รุ่น มูลค่าเพียง 3 หมื่นล้านบาท มาถึงวันนี้ที่มีตราสารหนี้ขึ้นทะเบียนเกือบ 3 พันรุ่น มูลค่ากว่า 13 ล้านล้านบาทแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 ชมรมผู้ค้าตราสารหนี้ (Bond Dealer Club: BDC) ได้เริ่มเปิดให้บริการระบบซื้อขายตราสารหนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีชื่อว่า “BONDNET” ซึ่งเป็นระบบ Blind Dealing จับคู่ราคาเสนอซื้อเสนอขายโดยไม่เปิดเผยตัวตนผู้ซื้อและผู้ขาย แต่สามารถส่งข้อความเจรจาต่อรองราคากันผ่านระบบได้ เพราะโอกาสที่ราคาจะจับคู่แบบ Auto-matching เหมือนหุ้นเป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากตราสารหนี้แต่ละรุ่นมีลักษณะรายละเอียดแตกต่างกัน โดยผู้ที่เข้าสู่ระบบซื้อขายจะต้องเป็นสถาบันการเงินที่มีใบอนุญาตค้าตราสารหนี้ (Dealer) ซึ่งในขณะนั้นประกอบด้วย ธนาคาร 17 แห่ง และบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อีก 70 แห่ง

ต่อมาชมรมผู้ค้าตราสารหนี้ได้ปรับสถานะเป็น ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย (Thai Bond Dealing Center: ThaiBDC) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2541 เพื่อให้มีสถานะภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และการกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. โดย ThaiBDC ได้ริเริ่มพัฒนาระบบรับรายงานข้อมูลการซื้อขายตราสารหนี้ และเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ตทั้งข้อมูล Real-time quotation, Post trade report รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลสถิติการซื้อขายต่างๆ ทั้งนี้ ภายหลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 การซื้อขายตราสารหนี้ส่วนใหญ่ได้ปรับรูปแบบมาเป็นการซื้อขายแบบ OTC และสถาบันการเงินที่เป็น Dealer จะรายงานข้อมูลนั้นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตดังกล่าวมายัง ThaiBDC เพื่อนำไปประมวลผลและเผยแพร่ต่อนักลงทุน

ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ตลาดตราสารหนี้โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลเติบโตขึ้นมากเพราะรัฐบาลออกพันธบัตรรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องเพื่อนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่ก่อนหน้านั้นไม่มีพันธบัตรรัฐบาลออกใหม่มายาวนานเกือบ 10 ปี ทำให้ ThaiBDC ในขณะนั้นโดยการสนับสนุนของธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังสามารถจัดทำ Government bond Yield curve ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญของตลาดการเงิน และต่อมาได้พัฒนา Bond index, Corporate bond yield curve และข้อมูลทางการเงินอื่นๆ และเผยแพร่เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน

ในปี 2548 คณะกรรมการกำกับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ที่มี รมว. คลังเป็นประธานได้เห็นชอบให้ ThaiBDC ปรับสถานะจากศูนย์ซื้อขายฯ เป็นสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ภายใต้ชื่อ “สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” (Thai Bond Market Association: ThaiBMA) เพื่อมุ่งเน้นการทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลตลาดตราสารหนี้ของประเทศ และกำกับดูแลการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรอง โดยให้โอนระบบซื้อขายตราสารหนี้อิเล็กทรอนิกส์ที่ขณะนั้นกำลังพัฒนาใหม่ ไปให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้ดำเนินการต่อภายใต้ชื่อระบบ FIRST

ThaiBMA ทำหน้าที่ในบทบาทหลัก 5 ด้าน ได้แก่ การกำกับดูแลการซื้อขายในตลาดรองของสถาบันผู้ค้าตราสารหนี้ การเป็นศูนย์ข้อมูลตราสารหนี้ไทย การจัดทำราคายุติธรรมของตราสารหนี้ (Bond Pricing agency) กำหนดมาตรฐานและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้แก่ผู้ร่วมตลาดและนักลงทุน การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในด้านต่างๆ รวมไปถึงการเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกและผู้ร่วมตลาด โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของประเทศไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

25 ปีที่ผ่านมา จากธุรกรรมซื้อขายวันแรกที่ 1 ล้านบาท..สู่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันกว่า 9 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน จากมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยต่อ GDP ที่ไม่ถึง 10% ..ขึ้นมาเป็น 83% ต่อ GDP และจากมูลค่าการออกหุ้นกู้เพียงหลักหมื่นล้านบาทต่อปี..เพิ่มขึ้นมาเป็นเกือบ 1 ล้านล้านบาทต่อปี ก้าวต่อไปของตลาดตราสารหนี้ไทยในยุค Digital transformation คือ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำธุรกรรม อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อนักลงทุนและภาคธุรกิจที่ระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ต่อไป

All Blogs