Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Jul. 31, 2019
มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทของ ธปท.
และผลต่อตลาดตราสารหนี้ไทย

ในวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออก 2 มาตรการในการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท หนึ่งคือ เพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติให้ลึกขึ้นถึงระดับชื่อของผู้ได้รับผลประโยชน์แท้จริง โดยจะมีผลบังคับใช้การรายงานข้อมูลในงวดเดือน ก.ค.นี้ และสองคือ การปรับลดเกณฑ์ยอดคงค้าง ณ สิ้นวันทำการของบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่อาศัยนอกประเทศ ทั้ง Non-resident Baht Account (NRBA) และ Non-resident Baht Account for Securities (NRBS) จากเดิมไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อวัน ลงมาอยู่ที่ 200 ล้านบาทต่อวัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. ซึ่งผลจากมาตรการดังกล่าวกระทบกระแสเงินลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยแค่ไหน เรามาติดตามกัน

เป็นเวลา 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่ประกาศมาตรการจนถึงวันที่ 26 ก.ค. มีเงินทุนไหลออกสุทธิจากตราสารหนี้ไทยราว 2.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินทุนไหลออกจากตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาว ประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาทและ 0.1 หมื่นล้านบาทตามลำดับ ซึ่งดูเหมือนว่ามาตรการนี้จะมีผลให้เงินลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นของต่างชาติลดลง ในขณะที่ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงกว่า 0.7% ณ วันที่มีการประกาศมาตรการจาก 30.60 มาอยู่ที่ 30.81 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากนั้นเงินบาทแกว่งตัวในทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่องสลับกับการแข็งค่าในบางวัน โดยจนถึงวันที่ 26 ก.ค. เงินบาทอ่อนค่าลงกว่า 1.23% มาอยู่ที่ 30.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (อ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท.)

จากข้อมูลทำให้เห็นว่า มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทนี้กระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพอร์ทการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตราสารหนี้ไทยโดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้น อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากยอดคงค้างของนักลงทุนต่างชาติที่ถือครองตราสารหนี้ไทยในปัจจุบันที่มูลค่าสูงถึง 9 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ระยะยาว มูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาท และส่วนที่เหลือคือตราสารหนี้ระยะสั้น ดังนั้น ผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนการลงทุนในตราสารหนี้ไทยระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติครั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาดตราสารหนี้ไทยเพียงจำกัด เพราะในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ตลาดตราสารหนี้ไทย ดูยังเป็นแหล่งการลงทุนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะหลังจากที่ตราสารหนี้ไทยรุ่นอ้างอิง (On-The-Run Benchmark) หลายรุ่นถูกบรรจุเข้าไปในดัชนีเจพีมอร์แกนตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว อีกทั้งล่าสุดทาง Fitch Ratings และ Moody’s Investors Service ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทระยะยาวจากระดับ “มีเสถียรภาพ (Stable outlook)” เป็น “เชิงบวก (Positive outlook)”

All Blogs