Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Jan. 11, 2019
D/E Ratio บอกอะไรบ้าง

อัตราส่วนทางการเงินที่เรียกว่า ‘‘อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน’’ (Debt to Equity Ratio) หรือที่เรียกย่อๆว่า D/E เป็นตัวเลขที่นักลงทุนคุ้นเคยแต่ไม่ควรละเลยเพราะมันช่วยให้ทราบว่าบริษัทมีภาระหนี้สินมากน้อยเพียงใดหากเทียบกับส่วนของเจ้าของจึงช่วยให้นักลงทุนตระหนักถึงภาระหนี้สินของบริษัทที่เราสนใจลงทุนว่ามีมากน้อยเพียงใด

ค่า D/E บ่งบอกว่าบริษัทมีภาระหนี้สินคิดเป็นกี่เท่าของทุนหรือส่วนของเจ้าของ(โดยนักลงทุนสามารถหาตัวเลขหนี้สินและส่วนของเจ้าของได้จากงบแสดงฐานะทางการเงินของบริษัท) ทั้งนี้ไม่ได้มีการกำหนดไว้แน่นอนว่าค่าD/E ต้องเป็นเท่าไหร่เนื่องจากขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจด้วยซึ่งโดยทั่วไปแล้วค่าD/Eที่นักลงทุนยอมรับได้มักไม่เกิน 2 เท่า แต่ค่าD/E ที่มากกว่า 2 เท่าขึ้นไปก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทนั้นมีภาระหนี้มากเกินไปจนนักลงทุนต้องหลีกเลี่ยง เช่น กลุ่มธุรกิจธนาคาร สินเชื่อ และประกันที่มีผลิตภัณฑ์หลักคือ เงินฝากที่จะถูกนับเป็นหนี้สินของบริษัท ในขณะที่การปล่อยกู้นับเป็นสินทรัพย์ของบริษัท ด้วยลักษณะการดำเนินธุรกิจของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้จึงมีค่าD/E ที่ค่อนข้างสูงราว 5-10 เท่า เป็นเรื่องปกติ

ค่า D/E ที่คำนวนสัดส่วนของหนี้สินต่อส่วนของทุนจึงสะท้อนการพึ่งพาการกู้ยืมของบริษัท ซึ่งหนี้สินที่เกิดจากการระดมทุน ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของสินเชื่อธนาคารหรือการออกตราสารหนี้ซึ่งจะก่อให้เกิดภาระผูกพันตามมาในรูปของดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายและเงินต้นเมื่อถึงกำหนด หากบริษัทมีภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายสูงก็จะมีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงินที่อาจนำไปสู่ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ (Default)ที่เจ้าหนี้ไม่ได้รับดอกเบี้ยหรือเงินต้นคืนตามเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่า D/E จะเป็นตัวช่วยให้นักลงทุนทราบภาระหนี้สินของบริษัทในช่วงเวลาหนึ่ง แต่นักลงทุนควรพิจารณาตัวเลขทางการเงินอื่นไม่ว่าจะเป็น รายได้กำไรสุทธิ EBITDA รวมถึง Net Profit Margin นอกเหนือไปจากอันดับเครดิตเพื่อประกอบการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตก่อนตัดสินใจลงทุน

สำหรับผู้กู้หรือบริษัทที่ออกตราสารหนี้ที่มีค่าD/E จึงถูกมองว่ามีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระสูง การจะระดมทุนเพิ่มด้วยการออกหุ้นกู้จึงอาจทำได้ไม่สะดวกและมักจะต้องจ่ายคูปองที่สูงขึ้นชดเชยกับความเสี่ยงปัจจุบันหลายๆ บริษัทจึงหันมาอาศัยนวัตกรรมของตราสารหนี้ อาทิเช่น Perpetual bond ในการระดมทุนผ่านเครื่องมือตราสารหนี้ เนื่องจากหลักการบัญชีจะนับการออกตราสารหนี้ประเภทนี้เป็นทุนทั้งจำนวน ค่า D/E จึงไม่สูงขึ้น ไม่ผิดเงื่อนไขข้อกำหนดสิทธิแม้ว่าบริษัทจัดอันดับเครดิตจะนับตราสารประเภทนี้เป็นทุน 50% และหนี้ 50% ในช่วง 5 ปีแรกก็ตาม(ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ “Perpetual bond หุ้นกู้ไม่มีอายุ”)ดังนั้นข้อดีอย่างหนึ่งของตราสารประเภทนี้ นอกจากจะทำให้บริษัทมีเงินทุนมาดำเนินกิจการแล้วยังช่วยให้ค่า D/E ของบริษัทไม่สูงขึ้นด้วย

All Blogs