Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Oct. 8, 2019
Perpetual bond คึกคักส่งท้ายปี 62

Perpetual bond หรือหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์คึกคักมากในช่วงนี้ด้วยมีการเสนอขายจากผู้ออกกว่า 3 รายในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่ง 1 ในนั้นจะเป็นผู้ออกที่ Perpetual bond รุ่นเดิมจะสามารถใช้สิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด (First call date) เป็นรุ่นแรกในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ถามกันมามากว่า Perpetual bond น่าลงทุนไหม อันนี้ก็ต้องแล้วแต่นักลงทุนแต่ละรายจะพิจารณากันเองแต่อย่างน้อยนักลงทุนควรเข้าใจลักษณะและความเสี่ยงของ Perpetual bond ก่อน ดังนี้

ไม่มีอายุหรือไม่มีกำหนดวันไถ่ถอน ผู้ลงทุนจะได้ดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ตราบใดที่บริษัทนั้นยังไม่เลิกกิจการไป แต่หากผู้ลงทุนต้องการเงินคืนจะทำได้เพียงการขายออกในตลาดรองเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันต้องยอมรับว่าอาจไม่มีสภาพคล่องมากนัก ราคาขายอาจสูงหรือต่ำกว่าราคาต้นทุนที่ซื้อมา

เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ หากบริษัทที่ออกล้มละลาย นักลงทุนที่ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้คืนเป็นลำดับที่ 3 หลังเจ้าหนี้มีประกัน และเจ้าหนี้สามัญอื่นๆ ซึ่งอาจได้รับชำระหนี้คืนเต็มจำนวนหรือบางส่วนตามจำนวนเงินที่เหลือจากการชำระเจ้าหนี้ลำดับก่อนหน้า

เลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้ ผู้ออกสามารถเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยออกไปได้โดยไม่มีเงื่อนไขแม้ว่าบริษัทจะมีกำไรก็ตาม โดยจะสะสมดอกเบี้ยจ่ายไปชำระในวันใดก็ได้แต่ในระหว่างนั้นจะห้ามจ่ายปันผลไม่ว่าจะเป็นเงินหรือหุ้นปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น แม้สุดท้ายผู้ออกอาจต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ค้างไว้ตามที่กำหนดก็ตาม แต่เงินที่ได้รับวันนี้กับได้รับในอนาคตย่อมมีมูลค่าปัจจุบันไม่เท่ากัน ดังนั้นอัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับจริงย่อมลดลงตามระยะเวลาการจ่ายดอกเบี้ยที่ถูกเลื่อนออกไป และที่สำคัญนักลงทุนต้องเตรียมการรองรับไว้ด้วยว่าอาจจะไม่ได้รับกระแสเงินสดจากดอกเบี้ยทุกงวดเหมือนการลงทุนในหุ้นกู้ปกติ

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านมายังไม่มีผู้ออกรายใดเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ย และผู้ออกไม่น่าจะเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยได้ตามอำเภอใจโดยไม่มีเหตุอันสมควร เพราะจะส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทจากการงดจ่ายปันผล และมีผลต่อการขายหุ้นกู้ของบริษัทในอนาคต เนื่องจากนักลงทุนจะมองว่าการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยเป็นสัญญาณบอกว่าบริษัทอาจมีปัญหาทางการเงินจนไม่สามารถชำระหนี้คืนได้

มี Call option คือ บริษัทผู้ออกมีสิทธิเรียกไถ่ถอนได้ก่อนกำหนดโดยมักจะกำหนดให้เริ่มใช้สิทธิไถ่ถอนได้ตั้งแต่ปีที่ 5 ทั้งนี้ โดยหลักการของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะนับตราสารประเภทนี้เป็นทุน 50% และนับเป็นหนี้ 50% ในช่วง 5 ปีแรก ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (DE ratio) ของบริษัทลดลง ดังนั้น ภายหลัง 5 ปีบริษัทมีสิทธิเลือกที่จะขอไถ่ถอนก่อนกำหนดได้หากไม่สามารถนับเป็นทุนได้แล้ว หรือหากดอกเบี้ยในตลาดขณะนั้นลดลงจากวันออก บริษัทก็อาจไถ่ถอนแล้วออกรุ่นใหม่ที่จ่ายดอกเบี้ยต่ำลงได้ ดังนั้น หากมีการไถ่ถอนก่อนกำหนด นักลงทุนก็จะไม่ได้รับดอกเบี้ยในอัตราตามที่คาดหวังอีกต่อไป และเงินที่ได้รับจากไถ่ถอนเมื่อนำไปลงทุนต่ออย่างอื่นก็อาจได้อัตราผลตอบแทนที่ลดลง ในทางตรงข้าม หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มสูงขึ้นมากในอีก 5 ปีข้างหน้า ผู้ออกก็อาจเลือกที่จะไม่ไถ่ถอนก่อนกำหนด ทำให้นักลงทุนเสียโอกาสในการนำเงินไปลงทุนต่อในอัตราดอกเบี้ยตลาดที่เพิ่มขึ้น

อันดับเครดิตของ Perpetual bond โดยทั่วไปจะต่ำกว่าอันดับเครดิตบริษัท ราว 2 ระดับจากการมีสถานะเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ เป็นผลให้ Perpetual bond จ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าหุ้นกู้ปกติ ซึ่งนักลงทุนต้องพิจารณาว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นนี้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ รวมถึงอาจนำไปเปรียบเทียบกับอัตราเงินปันผลกรณีลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท

ด้วยคุณสมบัติที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ออกในการระดมทุนโดยไม่ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเพิ่มขึ้น แต่สำหรับนักลงทุนก็ต้องเข้าใจความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น หุ้นกู้ประเภทนี้จึงอาจเหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีเงินลงทุนสูงซึ่งต้องการกระจายทางเลือกในการลงทุน หรือนักลงทุนเงินเย็นที่ไม่ได้มีเป้าหมายในการรับเงินต้นคืนภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่สำหรับนักลงทุนรายย่อยควรทำความเข้าใจถึงเงื่อนไขพิเศษของ Perpetual bond เพื่อประเมินความเสี่ยงของหุ้นกู้และระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ก่อนตัดสินใจลงทุน

ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 Perpetual bond มีมูลค่าคงค้างอยู่ที่ 7.7 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็น 2% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว ประกอบด้วย Perpetual bond 16 รุ่นจากผู้ออก 8 ราย

หากรวม Perpetual bond ที่จะเสนอขายใหม่ของ IVL (บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส) ที่คาดว่าจะเรียกไถ่ถอนตามสิทธิ์และเสนอขายหุ้นกู้ใหม่ด้วยมูลค่าเท่าเดิมคือ 1.5 หมื่นล้านบาท และของผู้ออกหน้าใหม่อย่าง BCP (บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น) ที่ประกาศเสนอขาย 1 หมื่นล้านบาท และ Bgrimm (บมจ.บี. กริม เพาเวอร์) มูลค่า 6 พันล้านบาท ก็จะทำให้มูลค่าคงค้างของ Perpetual bond เพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านบาท ขยับเป็น 3% ของมูลค่าคงค้างในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว

All Blogs