Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Feb. 05, 2019
10 year challenge ของตลาดตราสารหนี้

ตลาดตราสารหนี้ไทยมีการเติบโตขึ้นทุกปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยต่อ GDP มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 60% ในปี 2009 เป็น 79% ในปี 2018 ทำให้ปัจจุบันตลาดตราสารหนี้ไทยเริ่มมีขนาดใกล้เคียงกับอีก 2 ช่องทางการระดมทุนหลักนั่นก็คือ สินเชื่อธนาคารและตลาดหุ้นมากยิ่งขึ้น (96% ต่อ GDP และ 101% ต่อ GDP ตามลำดับ) โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ ประเทศไทยมีการระดมทุนด้วยตราสารหนี้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก อัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละกว่า 7% สูงกว่าตลาดหุ้นและสินเชื่อธนาคารที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียง 5% และ 4% ต่อปีตามลำดับ นอกจากนี้ มูลค่าการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ก็เพิ่มขึ้นกว่า 32% ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีสภาพคล่องล้นตลาด อัตราดอกเบี้ยจึงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำติดต่อกันหลายปี เป็นโอกาสให้ภาคธุรกิจต่างๆ หันมาระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้กันมากขึ้น

แล้วตลาดตราสารหนี้เพื่อนบ้านของไทยเป็นอย่างไรบ้าง ข้อมูลจาก AsianBondOnline แสดงให้เห็นว่า ประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วนตลาดตราสารหนี้ต่อ GDP สูงที่สุดในกลุ่มประเทศ ASEAN+3 โดยค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 202% ต่อ GDP รองลงมาคือ เกาหลีใต้ 117% ต่อ GDP และมาเลเซีย 96% ต่อ GDP โดยทุกประเทศใน ASEAN +3 มีการขยายตัวของตลาดตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง มีเพียงอินเดียและเวียดนามที่ยังมีสัดส่วนของตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างต่ำที่ประมาณ 16% ต่อ GDP

เมื่อพิจารณาขนาดตลาดตราสารหนี้ภาครัฐ (ออกโดยรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น ธนาคารกลางและรัฐวิสาหกิจ) จะพบว่า ประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่ม ASEAN +3 มีขนาดของตลาดตราสารหนี้ภาครัฐใหญ่กว่าตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ยกเว้นเกาหลีใต้เพียงประเทศเดียวที่มีขนาดของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนใหญ่กว่า สำหรับประเทศไทยมีสัดส่วนตลาดตราสารหนี้ภาครัฐเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ 53% ต่อ GDP ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่มีสัดส่วนเฉลี่ย 54% ต่อ GDP

ส่วนตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนพบว่า แม้ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนไทยจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จาก 12% ต่อ GDP ในปี 2009 มาเป็น 24% ต่อ GDP ในปัจจุบัน จำนวนรุ่นตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวที่ขึ้นทะเบียนกับ ThaiBMA เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ที่สำคัญในปี 2018 มูลค่าการออกทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์มากถึง 8 แสนล้านบาท แซงหน้าพันธบัตรรัฐบาลกว่า 3 ปีแล้ว แต่ก็ยังถือว่าขนาดตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนไทยค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ที่มีขนาดเท่ากับ 69% ต่อ GDP หรือมาเลเซียและสิงคโปร์ที่มีสัดส่วนตลาดต่อ GDP ประมาณ 42% และ 27% นี่ย่อมสะท้อนให้เห็นโอกาสในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทยได้อีกมาก

ในระยะข้างหน้า คาดว่าตลาดตราสารหนี้ของไทยและประเทศในกลุ่ม ASEAN+3 จะยังสามารถเติบโตได้อีกมาก อันเป็นผลมาจากรูปแบบการระดมทุนของตลาดการเงินโลกที่มุ่งลดบทบาทตัวกลาง เพื่อทำให้ผู้ที่มีเงินออมได้รับผลตอบแทนสูงสุดและผู้ต้องการกู้เงินประหยัดต้นทุนทางการเงินลงได้

All Blogs