Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Jun. 04, 2019
2-10 Spread สัญญาณคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจ

นักลงทุนในตลาดจำเป็นต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจเพื่อวางแผนการลงทุนให้เหมาะสม โดยอาศัยตัวชี้วัดหรือดัชนีทางเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนระหว่างพันธบัตรรัฐบาลอายุยาวกับอายุสั้น โดยรุ่นอายุของพันธบัตรที่นักลงทุนมักใช้ในการเปรียบเทียบกันทั่วไปคือ รุ่น 10 ปี และ 2 ปี ส่วนต่างนี้เรียกว่า 2-10 spread (ทูเท็นสเปรด)

2–10 spread เกิดจากการนำอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) อายุ 10 ปี มาหักลบกับรุ่นอายุ 2 ปี ได้เป็นส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรซึ่งโดยปกติจะมีค่าเป็นบวกเพราะการกู้ยืม 10 ปีย่อมต้องให้ผลตอบแทนสูงกว่าการกู้ยืม 2 ปี แต่ค่าส่วนต่างนี้ไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงได้ตามภาวะเศรษฐกิจ ในบางช่วงเวลาอาจมีค่าต่ำมากจนกระทั่งติดลบได้ แล้วค่านี้บอกอะไรแก่นักลงทุน

โดยปกติ Bond yield ระยะยาวย่อมสูงกว่า Bond yield ระยะสั้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงจากการลงทุนในระยะเวลาที่ยาวกว่า และสะท้อนถึงเงินเฟ้อในอนาคต อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนมีมุมมองที่เป็นลบต่อภาวะเศรษฐกิจ เช่น คาดว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ นักลงทุนจำนวนมากก็จะหันไปซื้อ Bond ระยะยาวเพื่อล็อคผลตอบแทนจากการลงทุนเอาไว้ ทำให้ Bond Yield ระยะยาวปรับตัวลดลง ส่วน Bond Yield ระยะสั้นปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจาก Demand ของ Bond ระยะสั้นน้อยลงและนักลงทุนบางส่วนอาจขาย Bond ระยะสั้นเพราะกังวลกับภาวะเศรษฐกิจอันใกล้และหันไปถือ Bond ระยะยาวแทน ส่งผลให้ 2-10 Spread มีค่าต่ำลง เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) จึงแบนราบ (Flat) ลง และหาก Yield Curve แบนราบลงเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดที่ Bond Yield ระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว จะทำให้เส้น Yield Curve กลายเป็นเส้นลาดลง และ 2–10 Spread มีค่าติดลบ ที่ได้ยินกันคุ้นหูว่า “Inverted Yield Curve”

ในอดีตเคยเกิดภาวะ Inverted Yield Curve มาแล้วที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2006 หลังจากนั้นอีกเกือบ 2 ปี เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็เข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในปี 2008 อย่างไรก็ตาม Inverted Yield Curve ไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิด Recession แต่เป็นเพียงสัญญาณหนึ่งที่บอกว่า นักลงทุนเริ่มมีมุมมองเชิงลบต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคตและอาจมีโอกาสที่จะเกิด Recession ขึ้นได้

ปัจจุบัน (31 พ.ค. 2562) 2–10 Spread ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 0.19% แม้จะมีค่าใกล้ศูนย์เต็มทีแต่ก็มี Yield Spread ในช่วงอื่นๆที่ติดลบแล้วเช่น Yield Spread ของ 3 เดือน – 10 ปี ติดลบ -0.21% และ Yield Spread ของ 2 ปี – 5 ปี ติดลบ -0.02% การที่ส่วนต่างของ 2-10 Spread แคบลงๆ น่าจะมาจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัว ความไม่ชัดเจนของการเจรจาการค้าสหรัฐฯ กับจีน รวมไปถึงผลจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนประเทศไทย 2–10 Spread อยู่ที่ 0.61% ซึ่งถือว่ามีค่าต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตตั้งแต่ปี 2015 ที่มีค่า 0.94% แต่ยังสูงกว่าสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก

ดังนั้น 2-10 Spread จึงถือเป็นข้อมูลอีกหนึ่งอย่างที่นักลงทุนสามารถนำมาใช้ประเมินและคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจและโอกาสของการเกิด Recession ในอนาคต

All Blogs