Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Jul. 03, 2019
การปรับลดวงเงินประมูลพันธบัตรของธปท.และผลต่อตลาดบอนด์

ในช่วงปี 2560 การแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าเป็นผลส่วนหนึ่งจากกระแสเงินไหลเข้าของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มนำมาตรการปรับลดวงเงินประมูลพันธบัตรมาใช้ในช่วงเดือนเมษายน 2560 จนถึงเมษายน 2561 โดยลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นรุ่นอายุ 3 เดือน และ 6 เดือน รวมกันลง 2 หมื่นล้านบาทต่อสัปดาห์

การแข็งค่าของเงินบาทกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งในปี 2562 ทำให้ ธปท. จะมีการปรับลดวงเงินประมูลพันธบัตรอีกครั้งในเดือนกรกฏาคม 2562 นี้ โดยจะลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นรุ่นอายุ 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ลง 2 หมื่นล้านบาทต่อสัปดาห์ ซึ่งน่าจะเป็นมาตรการหนึ่งในการดูแลความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท แล้วจะมีผลอย่างไรต่อตลาดตราสารหนี้บ้าง?

หากพิจารณาข้อมูลจากการปรับลดวงเงินประมูลพันธบัตรธปท. เมื่อ 2 ปีที่แล้ว พบว่าปริมาณการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติลดลงเล็กน้อยหลังจากการปรับลดวงเงินพันธบัตร โดยนักลงทุนต่างชาติมีมูลค่าการถือครองพันธบัตรระยะสั้นลดลงประมาณ 3% จาก 107 พันล้านในช่วงก่อนออกมาตรการ เป็น 104 พันล้านบาท ณ พฤษภาคม 2561 ในขณะที่มูลค่าการถือครองพันธบัตรระยะยาวของต่างชาติกลับเพิ่มขึ้นจาก 589 พันล้านบาทเป็น 744 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาดังกล่าว ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาวะตลาดทั่วโลก คือ ความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ทำให้กระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างผันผวนตามภาวะตลาดโลก

แต่การลดวงเงินประมูลพันธบัตรนี้ดูเหมือนจะมีผลกระทบอย่างชัดเจนต่อ Bond Yields หรือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยเฉพาะรุ่นอายุสั้น 6 เดือนจากที่แกว่งตัวอยู่แถวๆ ดอกเบี้ยนโยบายในเวลานั้นที่ 1.5% ก็เริ่มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจนต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลงต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายจนถึงรุ่นอายุ 2 ปี ต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2560 เนื่องจากอุปทานไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ส่วนในแง่ของอัตราแลกเปลี่ยน พบว่ามาตรการดังกล่าวมีผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงเกือบ 1% ในช่วง 1 เดือนหลังมาตรการ แต่หลังจากนั้นเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าตลอดทั้งปี 2560

จากข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นว่าการปรับลดวงเงินพันธบัตรของธปท. ในครั้งนี้ก็น่าจะมีผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นลดลงไปอีกจากปัจจุบันซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายอยู่แล้ว ทั้งนี้ปัจจุบัน อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรุ่นอายุ 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือนอยู่ที่ 1.68%, 1.71% และ 1.75% ตามลำดับ ซึ่งก็จะทำให้นักลงทุนสถาบันที่มักจะลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดลงด้วย

All Blogs