Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    May. 07, 2018
Bond Yield สหรัฐฯ สูงขึ้น ดึง Bond Yield ไทยสูงขึ้น ด้วยไหม?

นับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ตลาดได้มีการฟันธงไปแล้วว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร(Bond Yield)รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังปรับเข้าสู่ช่วงทิศทางขาขึ้น หน่วยงานทางการเงินการลงทุนต่างเตรียมตัววางแผนการระดมทุนและการลงทุนรองรับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นดังกล่าว โดยมี Bond Yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่ระดับ 3%ถูกกำหนดให้เป็นระดับจิตวิทยา เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าเป็นระดับอัตราผลตอบแทนที่จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อการจัดสรรเม็ดเงินที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ในประเทศต่างๆ ของนักลงทุน ดังนั้นในช่วงนี้ Bond Yield สหรัฐฯ จึงมีการติดตามอย่างใกล้ชิด

หลังจากที่สภาคองเกรสได้อนุมัติร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา Bond Yield สหรัฐฯ ก็ได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยรุ่นอายุ 10 ปีปรับตัวสูงขึ้นมาแตะระดับ 3% เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาซึ่งได้กลายเป็นประเด็นที่มีการกล่าวถึงกันมากว่าBond Yield ของประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยจะปรับสูงขึ้นตามไหม

หากย้อนไปดูข้อมูลในเดือนเมษายนที่ผ่านมา Bond Yield สหรัฐฯ รุ่นอายุ 10 ปีมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนขึ้นมาแตะ 3% ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนจะย่อตัวลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 3% เล็กน้อยในช่วงสิ้นเดือน เป็นการปรับเพิ่มขึ้น 21 bps. หรือคิดเป็นอัตราการปรับเพิ่มขึ้น 8% สำหรับ Bond Yield รุ่นอายุ 10 ปีของประเทศอื่น ได้แก่ เยอรมัน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ มาเลเซีย และอินเดีย ก็มีการเคลื่อนไหวในลักษณะที่สัมพันธ์กันกับ Bond Yield สหรัฐฯ เลยทีเดียว แต่ในขนาด(Magnitude) ที่น้อยกว่าเนื่องจากประเทศเหล่านั้นมี Bond Yield ที่ระดับต่ำกว่า ทั้งนี้หากคิดเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ปรับเพิ่มขึ้นก็จะใกล้เคียงกันกับ Bond Yield สหรัฐฯ โดยเยอรมันและฝรั่งเศสมีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่สูงกว่าถึง 14% และ 10% ตามลำดับ เนื่องจาก 2 ประเทศนี้มีภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเป็นปัจจัยสนับสนุน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การปรับตัวสูงขึ้นของ Bond Yield สหรัฐฯ ทำให้เกิดการยกระดับ Bond Yield ทั่วโลกให้สูงขึ้นโดยคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นราว 8%บางประเทศมีการปรับตัวสูงขึ้นมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศไทย Bond Yield 10 ปีปรับขึ้น 6 bps. ในช่วงเดือนเมษายน คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นเพียง 2%แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะมีการขายสุทธิออกมาก็ตามกว่า 32,782 ล้านบาท จึงถือได้ว่า Bond Yield ไทยอายุ 10 ปี มีการปรับขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างต่ำเนื่องจาก Bond Yieldระยะยาวของไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงตาม Bond Yield สหรัฐฯเท่านั้น ซึ่งอาจจะต้องรอปัจจัยสนับสนุน เช่น อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นหรือแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าน้อยลง Bond Yield ระยะยาวของไทยจึงจะปรับตัวขึ้นในอัตราใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ

สำหรับพันธบัตร ธปท. ระยะสั้น หลังจากที่ได้มีการปรับลดวงเงินประมูลพันธบัตร ธปท. ระยะสั้นตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้วเนื่องจากต้องการลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งการปรับลดวงเงินประมูลดังกล่าวทำให้ Supply ของพันธบัตรระยะสั้นในตลาดลดลง นักลงทุนต่างชาติยังคงเข้าซื้อตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง กดดันให้ Bond Yield ระยะสั้นของไทยค่อยๆ ปรับตัวลดลงจนอยู่ในระดับต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายมาก จนเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศจะปรับเพิ่มวงเงินประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 3 เดือน และ 6 เดือน ที่จะออกตั้งแต่ในเดือนพฤษภาคม 2561 แน่นอนว่าการปรับเพิ่มวงเงินประมูลเป็นการเพิ่ม Supply ของพันธบัตรระยะสั้น ย่อมจะส่งผลให้ Bond Yield ระยะสั้นปรับตัวสูงขึ้น โดย Bond Yield อายุ 2 ปีได้ปรับตัวสูงขึ้นมาที่ 1.51% เมื่อสิ้นเดือนเมษายนซึ่งใกล้เคียงกับระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากเมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ระดับ 1.40%ทั้งนี้ Bond Yield รุ่นอายุ 1 เดือนถึง 6 เดือนยังคงต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่มาก แม้ว่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ซึ่งคาดว่าคงจะใช้เวลาสักระยะหนึ่งกว่าที่ Bond Yield ระยะสั้นจะปรับตัวขึ้นมาใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบาย

All Blogs