Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    May. 01, 2018
Basel III Bond ตราสารหนี้ที่เพิ่มความมั่นคงให้แก่ธนาคาร

ปัจจุบันธนาคารเป็นสถาบันการเงินที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่ามีความมั่นคงขึ้นอย่างมาก ซึ่งความมั่นคงดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเอง หากแต่มีมาตรการและเครื่องมือต่างๆ มาช่วยสร้างความมั่นคงหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ดูแลระบบธนาคารในปัจจุบันคือ หลักเกณฑ์ Basel III ซึ่งเป็นเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงที่นานาชาติใช้กัน

หลักเกณฑ์Basel III จะมีการวัดความเสี่ยงโดยรวมของธนาคารเทียบกับเงินกองทุน ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้รองรับความเสียงหายจากการดำเนินงานของธนาคาร โดยเงินกองทุนดังกล่าวจะประกอบด้วยเงินทุนจากหลายส่วน เช่น ทุนชำระแล้ว ทุนสำรองตามกฎหมายกำไรสะสมคงเหลือจากการจัดสรร เงินสำรองสำหรับสินทรัพย์จัดชั้นปกติ (General Provision)และเงินที่ได้จากการออกตราสารหนี้ Basel IIIหรือ Basel III Bond

ดังนั้น Basel III Bond ก็คือ ตราสารหนี้ชนิดหนึ่งที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์เพื่อนำเงินมาใช้เป็นเงินกองทุนตามหลักเกณ์ Basel III โดย Basel III Bondมีความแตกต่างจากตราสารหนี้ทั่วไปคือ จะสามารถนำไปรับความเสียหายของธนาคารได้หากมีเหตุการณ์ที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่าที่กำหนด หรือ ธนาคารมีปัญหาทางการเงินทำให้ไม่สามารถดำเนินงานได้จนทางการตัดสินใจเข้าให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เป็นต้นซึ่ง Basel III Bond จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ตราสารหนี้ Basel III Tier 2และตราสารหนี้ Basel III Additional Tier 1

ตราสาร Basel III Tier 2 เป็นตราสารหนี้ด้อยสิทธิ หากธนาคารประสบปัญหาทางการเงินที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้จนทางการตัดสินใจเข้าให้ความช่วยเหลือ ตราสารหนี้เหล่านี้จะถูกเปลี่ยนเป็นหุ้นสามัญ ลดมูลค่าหรือถูกตัดเป็นหนี้สูญได้ตามที่กำหนดไว้ สำหรับนักลงทุนที่เลื่อกที่จะลงทุนในตราหนี้ประเภทนี้ ควรสามารถรับความเสียหายในกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่เกิดขึ้นและธนาคารได้รับการช่วยเหลือจากทางการได้ ในสภาวะดังกล่าวมีโอกาสที่เจ้าหนี้รายอื่นๆ ผู้ลงทุนในตราสารหนี้อื่นๆและผู้ฝากเงินจะได้เงินคืนเต็มจำนวนแต่ นักลงทุนที่ลงทุนใน Basel III Tier 2 อาจเสียเงินทั้งหมดไป แม้ว่าหากภายหลังบริษัทได้ฟื้นตัวเข้าส่สภาวะปกติแล้วก็ตาม ส่วนที่ถูกตัดเป็นหนี้สูญแล้วจะไม่ได้คืน ดังนั้นนักลงทุนมั่นใจว่าสามารถรับความเสี่ยงที่จะขาดทุนจำนวนมากได้หากต้องการลงทุนในตราสารประเภทนี้ ปัจจุบันธนาคารหลายแห่งได้ออกตราสารหนี้ประเภทนี้ออกมาซึ่งได้รับความนิยมจากนักลงทุนเนื่องจากการจ่ายดอกเบี้ยที่สูง และนักลงทุนเชื่อมั่นในความมั่นคงของธนาคาร ได้แก่ BAY KBANK KK KTB LHBANK SCB TBANK TISCO TMB และ UOB

ตราสารหนี้ Basel III Additional Tier 1 เป็นตราสารหนี้ที่ไม่กำหนดอายุ (Perpetual) สามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ยได้โดยไม่มีเงื่อนไข และไม่สะสมดอกเบี้ย (คือ หากไม่จ่ายดอกเบี้ยรอบนั้น ก็จะไม่มีการสะสมดอกเบี้ยเพื่อนำไปสมทบในการจ่ายครั้งถัดไป) และหากเงินกองทุนของธนาคารลดต่ำลงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดหรือ ธนาคารประสบปัญหาทางการเงินทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้จนทางการตัดสินใจเข้าให้ความช่วยเหลือ ตราสารหนี้เหล่าหนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นหุ้นสามัญ ถูกลดมูลค่าหรือตัดเป็นหนี้สูญได้ตามที่กำหนดไว้จากคุณลักษณะที่กล่าวมา ตราสารหนี้Basel III Additional Tier 1 จึงมีความเสี่ยงสูงกว่าตราสารหนี้ปกติมาก และเสี่ยงสูงกว่าตราสาร Basel III Tier 2 ด้วย เป็นตราสารหนี้ที่มีลักษณะของความเป็นทุนสูง ตราสารหนี้ประเภทนี้จึงมักจะจ่ายดอกเบี้ยสูงตามไปด้วย แต่ตราสารหนี้ประเภทนี้ไม่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน

สำหรับนักลงทุนตราสารหนี้Basel IIIเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นตามความเสี่ยงที่สูงขึ้นกว่าตราสารหนี้ทั่วไป และธนาคารในประเทศไทยในปัจจุบันก็มีความมั่นคงอย่างมาก อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่ธนาคารพาณิชย์มีปัญหาทางการเงินจนทางการต้องเข้าช่วยเหลือทางการเงินได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงวิกฤตปี 2540 ซึ่งหากสถาบันการเงินเกิดวิกฤตขึ้นอีก นักลงทุนที่ลงทุนใน Basel III Bond จะเป็นผู้ที่รับความเสียหายเป็นกลุ่มแรกๆ ดังนั้นนักลงทุนควรประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบและเปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่จะได้รับก่อนการตัดสินใจลงทุนนะครับ

All Blogs