Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    July 11, 2017
แฝดคนละฝา Default กับ NPL

แม้ว่าช่วงนี้จะมีข่าวการผิดนัดชำระตราสารหนี้ของบริษัทต่าง ๆ เป็นระยะ ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจในการลงทุนในตราสารหนี้ ล่าสุดปริมาณเงินฝากธนาคารเดือนเมษายน 60 เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากบัญชีที่มีเงินฝากขนาด 10-25 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเป็นการโยกเงินกลับมาฝากธนาคารของนักลงทุนกลุ่ม High Net Worth หลังจากมีปัญหาตั๋ว BE ผิดนัดชำระในช่วงที่ผ่านมา

จะว่าไป การผิดนัดชำระตราสารหนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ นั่นคือ ลูกหนี้ไม่สามารถคืนเงินได้เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ จะต่างกันตรงที่เจ้าหนี้ สำหรับตราสารหนี้ เจ้าหนี้จะเป็นนักลงทุนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายใหญ่หรือ HNW และนักลงทุนบุคคลธรรมดาทั่วไป ดังนั้นการผิดนัดชำระตราสารหนี้จะทำให้นักลงทุนได้รับผลกระทบโดยตรงในทันที แต่เจ้าหนี้ NPL จะเป็นธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งซึ่งก็จะมีนักลงทุนกลุ่มต่าง ๆ ร่วมมีส่วนได้เสียกับธพ. ได้แก่ นักลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้น และประชาชนผู้ฝากเงิน หนี้ NPL ย่อมมีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียของธพ. เพียงแต่ไม่ส่งผลกระทบในทันทีและผลกระทบอาจไม่เห็นชัดเจน หากธพ.สามารถบริหารจัดการ NPL ได้ไม่ถึงกับทำให้ธพ.ต้องปิดกิจการ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นี้ย่อมทำให้ผลตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ ที่ผู้มีส่วนได้เสียจะได้รับย่อมลดน้อยลงกว่าการที่ไม่มี NPL เช่น ผู้ถือหุ้นย่อมได้เงินปันผลน้อยลงและราคาหุ้นอาจไม่ปรับตัวสูงขึ้นนัก ประชาชนผู้ฝากเงินย่อมถูกกดดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในทางอ้อมไม่เห็นอย่างชัดเจน นักลงทุนและประชาชนจึงไม่ตื่นตระหนกกับ NPL เหมือนกับการผิดนัดชำระตราสารหนี้ ทั้งที่ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2560 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คิดเป็น 2.94% ของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนการผิดนัดชำระหนี้ที่คิดเป็น 0.12% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งหมด ณ 23 มิ.ย. 2560

Default หรือ NPL ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนที่มีความเสี่ยง เพียงแต่ตราสารหนี้บ้านเราเพิ่งเกิดขึ้นมาได้ไม่นานนัก ถือได้ว่าเป็นน้องเล็กสุดในบรรดาช่องทางการระดมทุนทั้ง 3 วิธี คือสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ การระดมทุนผ่านตลาดหุ้น และการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีการผิดนัดชำระหนี้น้อยมากจนอาจทำให้นักลงทุนเข้าใจผิดได้ว่าการลงทุนในตราสารหนี้ไม่มีความเสี่ยง นักลงทุนจะได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยคืนเสมอ นักลงทุนจึงไม่ระมัดระวังเท่าใดนัก ดูแต่เพียงอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วเท่านั้นในการลงทุนตราสารหนี้ การผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้แม้ว่าจะทำให้บรรยากาศการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ชะงักไปบ้าง นักลงทุนจำนวนไม่น้อยได้รับความเดือนร้อน สามารถใช้เป็นโอกาสในการศึกษา ทำความเข้าใจการลงทุนในตราสารหนี้ หลายอย่างที่นักลงทุนได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ Default ในช่วงนี้พอจะสรุปได้ดังนี้

1. การผิดนัดชำระเป็นเรื่องปกติของการลงทุนที่มีความเสี่ยงซึ่งรวมถึงการลงทุนในตราสารหนี้

2. การลงทุนในตราสารหนี้ควรพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน 3 ประการ คือ 1) อายุคงเหลือของหุ้นกู้ (TTM: Time-to-Maturity) 2) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่อายุคงเหลือเท่ากัน (Government bond yieldat given TTM) และ3) ส่วนชดเชยความเสี่ยง หรือ ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้จากพันธบัตรรัฐบาล (Credit spreadover government bond) ที่ขึ้นอยู่กับอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกหรือหุ้นกู้ นักลงทุนสามารถติดตามอ่านได้จากบทความ “จะซื้อหุ้นกู้ต้องดู Credit Spread” ที่สมาคมตลาดตราสารหนี้จัดทำไว้

3. นอกเหนือจาก 3 ปัจจัยหลักนี้แล้ว จากเหตุการณ์ Default ที่เกิดขึ้นในรอบนี้พบว่าสาเหตุการผิดนัดชำระจะเป็นเหตุผลเฉพาะตัวของแต่ละบริษัทที่ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการบริหาร ดังนั้นนักลงทุนอาจพิจารณาถึงประวัติการบริหารงานหรือพฤติกรรมการบริหารที่ผ่านมาของผู้บริหารระดับสูงของแต่ละบริษัทเพิ่มเติมด้วยที่อาจจะสะท้อนให้เห็นถึงจรรยาบรรณได้ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถสะท้อนได้จากอันดับเครดิต

All Blogs