• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Mar 01 2017
ตอน ตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานเอกชน

พูดถึงตราสารหนี้ภาครัฐกันไปแล้ว วันนี้จะพูดถึงตราสารหนี้ภาคเอกชนบ้าง ตราสารหนี้ภาคเอกชนมีหลายประเภท ที่ได้ยินกันบ่อยๆ ได้แก่ ตั๋วแลกเงิน (Bill of exchange) หุ้นกู้ (Debenture) และตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory note) โดยตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้ง 3 ประเภทนี้จะมีเงื่อนไข ลักษณะบางประการ และวัตถุประสงค์ในการออกที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่มักออกเพื่อนำเงินไปใช้ในการลงทุนขยายกิจการ หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนสามารถกำหนดเงื่อนไขและรูปแบบได้หลากหลายขึ้นอยู่กับลักษณะความต้องการใช้เงินและความสามารถในการใช้คืนเงินต้นเป็นสำคัญ ถ้าเปรียบเป็นการทำอาหาร อาหารเมนูหนึ่งอาจใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงที่ต่างกันไปบ้างตามความชอบของพ่อครัว เช่น ตามสูตรใช้หมูสันใน แต่พ่อครัวชอบกุ้ง ก็ใส่กุ้งเพิ่ม หรือไม่ชอบหวานก็ลดน้ำตาลลง เช่นเดียวกันกับการออกตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ของแต่ละบริษัทที่สามารถกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ของตราสารได้ตราบใดที่นักลงทุนยังให้ความสนใจลงทุน ยกตัวอย่างเช่น อายุของตราสาร (สั้น/ยาว) ประเภทตราสาร (มีประกัน/ไม่มีประกัน) อัตราดอกเบี้ย (คงที่/ลอยตัว)เป็นต้น

อายุตราสาร (Issue Term)

ตราสารหนี้ภาคเอกชนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ตราสารหนี้ระยะสั้น มีอายุน้อยกว่า 270 วัน
2. ตราสารหนี้ระยะยาว มีอายุตั้งแต่ 270 วันขึ้นไป

ประเภทตราสาร (Type)

สามารถแบ่งได้หลักๆ 2 แบบ คือ แบ่งตามการค้ำประกัน ได้แก่
1. หุ้นกู้มีประกัน
2. หุ้นกู้ไม่มีประกัน
โดยหุ้นกู้ไม่มีประกันสามารถแบ่งตามสิทธิเรียกร้อง ได้แก่ หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องในการชำระเงินคืนไม่เท่ากันหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น เช่น บริษัทผู้ออกล้มละลาย หรือไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ บริษัทดังกล่าวจะต้องนำทรัพย์สินมาชำระหนี้คืนให้กับเจ้าหนี้หรือผู้ถือตราสารหนี้ โดยเรียงลำดับตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้แต่ละประเภทเริ่มจาก หุ้นกู้มีประกัน >หุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ >หุ้นกู้ไม่มีประกันและด้อยสิทธิ >หุ้นบุริมสิทธิ >หุ้นสามัญ ตามลำดับ หากทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าวมีไม่เพียงพอ เจ้าหนี้ลำดับหลังๆ อาจไม่ได้รับชำระเงินคืนได้

ดอกเบี้ย (Coupon)

แบ่งได้ 2 ประเภท คือ
1. ดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate): เป็นการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่คงที่ตลอดช่วงอายุตราสาร เช่นจ่ายปีละครั้ง จ่ายทุก 6 เดือน หรือ จ่ายทุก 3 เดือน ตามที่ผู้ออกกำหนด
2. ดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate Note/FRN): เป็นการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่เปลี่ยนแปลงไปตามอัตราอ้างอิง เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก BIBOR 3 เดือนหรือ อัตราเงินเฟ้อ (Inflation-Linked Bond) ตราสารหนี้ตัวนั้นๆ จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ ถ้าคาดว่าในอนาคตอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น

การคืนเงินต้น (Principle)

แบ่งได้ 2 แบบคือ
1.การคืนเงินต้นทั้งจำนวนในวันครบกำหนดอายุ (Bullet Bond)
1.การทยอยจ่ายคืนเงินต้นเป็นงวดๆ พร้อมกับงวดการจ่ายดอกเบี้ย (Amortized Bond)
ในแง่ของนักลงทุน การทยอยจ่ายคืนเงินต้นจะมีความเสี่ยงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับตราสารที่จ่ายคืนเงินต้นงวดเดียวเมื่อครบกำหนดอายุ

การเสนอขาย (Offering)

มี 2 ช่องทางด้วยกันคือ
1. การเสนอขายประชาชนทั่วไป (Public Offering: PO)
2. การเสนอขายนักลงทุนเฉพาะเจาะจง(Private Placement: PP)ซึ่งมีนักลงทุน 2 กลุ่ม ได้แก่
    a. นักลงทุนเฉพาะเจาะจงไม่เกิน 10 ราย (PP10)
    b. นักลงทุนสถาบัน/ผู้ลงทุนรายใหญ่ (II/HNW) โดยผู้ลงทุนสถาบันจะหมายถึง ธนาคารพาณิชย์ กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น และผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) ซึ่ง กลต. กำหนดคุณสมบัติของนักลงทุนรายใหญ่ไว้ดังต่อไปนี้
    i. บุคคลธรรมดา ต้องมีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป สามารถพิจารณารวมกับคู่สมรสได้
    ii. นิติบุคคล ต้องมีส่วนของผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป

วันนี้เราได้รู้จักลักษณะต่างๆของตราสารหนี้ภาคเอกชนกันไปบ้างแล้ว ครั้งหน้าพบกับ ตอน “สิทธิแฝงของตราสารหนี้ (Embedded Option)”สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ

All Blogs