• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Mar 31, 2017
อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating)

อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) เป็นการประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ โดย “สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agencies)” ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)

ในประเทศไทยมี 2 แห่งคือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือเปรียบเสมือนนักชิมหรือผู้ตรวจสอบคุณภาพของอาหารก่อนจะถึงมือผู้บริโภค (นักลงทุน) ถ้าอาหารชนิดนั้นมีคุณภาพดีและปลอดภัยจะให้เกรด AAA จนไปถึงคุณภาพต่ำจะให้เกรด D

กล่าวคือตราสารหนี้ที่อันดับเครดิตยิ่งสูง ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ก็ยิ่งต่ำ (ดังรูป) อันดับความน่าเชื่อถือจะถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ Investment Grade หรือ กลุ่มน่าลงทุน (AAA ถึง BBB-) และ Speculative Grade หรือกลุ่มเก็งกำไร (BB+- ลงไปจนถึง D)

โดยบริษัทจัดอันดับเครดิตจะวิเคราะห์จากผลการดำเนินงานและความเสี่ยงต่างๆที่มีผลกระทบต่อบริษัท ซึ่งนักลงทุนจะต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตตลอดระยะเวลาการลงทุน

อันดับความน่าเชื่อถือเป็นลักษณะที่สำคัญของตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งแตกต่างจากพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) ที่ถือเป็นตราสารหนี้ที่ปราศจากความเสี่ยงด้านเครดิตเนื่องจากรัฐบาลมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในประเทศ จากการที่รัฐบาลมีอำนาจในการเก็บภาษีเพื่อมาใช้คืนหนี้นั่นเอง ดังนั้นพันธบัตรรัฐบาลจึงถือเป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit risk free) หากรัฐบาลต้องการออกตราสารไปขายต่างประเทศก็จะจัดอันดับเครดิตเช่นกัน ดังนั้นสำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชน การจัดอันดับเครดิตจึงเป็นข้อมูลหนึ่งที่สำคัญในการพิจารณาว่าผู้ออกตราสาร ซึ่งมีสถานะเป็นลูกหนี้จะมีความสามารถในการจ่ายคืนมากน้อยแค่ไหน

แล้วถ้าหากนักลงทุนได้ตัดสินใจซื้อตราสารหนี้ไปแล้ว ผู้ออกเกิดล้มละลาย! ท่านจะได้รับเงินคืนหรือไม่? ติดตามได้ในครั้งต่อไป สำหรับวันนี้ขอบคุณคร๊าบ!

All Blogs