• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Jul. 29, 2021
Sustainability-Linked Bond รุ่นแรกของไทยมาแล้ว

🔹Sustainability-Linked Bond (SLB) หรือ หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน เป็นตราสารหนี้รูปแบบใหม่ในกลุ่มตราสารหนี้สีเขียว ที่อัตราดอกเบี้ยสามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามผลสำเร็จของตัวชี้วัดหรือเป้าหมายของบริษัทผู้ออกที่มีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและสังคม

🔹SLB รุ่นแรกของโลกออกขายเมื่อกันยายนปี 2019 โดย Enel Group บริษัทผลิตพลังงานในอิตาลีที่ตั้งเป้าหมายจะผลิตพลังงานทดแทนอย่างน้อย 55% ของกำลังการผลิตทั้งหมด หากไม่สามารถทำได้ บริษัทจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ให้แก่นักลงทุน ซึ่งได้รับการตอบรับจากตลาดค่อนข้างดี ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2020 ICMA ซึ่งเป็นองค์กรตลาดทุนระหว่างประเทศได้ออกมาตรฐานการออก SLB (Sustainability-linked Bond Principle: SLBP) โดยภายหลังการประกาศหลักเกณฑ์ มีหลายบริษัทออก SLB เช่น Chanel แบรนด์แฟชั่นชั้นนำของฝรั่งเศส และ Ethihad สายการบินของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น

🔹สำหรับประเทศไทยก็ไม่ตกเทรนด์รักษ์โลก โดยบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลก ได้ออก SLB รุ่นแรกของไทยไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา มูลค่าการออก 5,000 ล้านบาท อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.47% ต่อปี เสนอขายแก่นักลงทุนสถาบัน นับเป็นการออก SLB รุ่นแรกของไทย นอกจากนี้บริษัทยังระบุว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่การจ่ายอัตราดอกเบี้ยเป็นแบบ Step up/ Step down หรืออัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามผลการประเมินของตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน (Sustainability Performance Targets หรือ SPTs) ที่กำหนดไว้ ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทผู้ออก SLB จะมีการ step up ดอกเบี้ยหากทำไม่สำเร็จแต่ยังไม่มีรายใดลดดอกเบี้ยลงหากสามารถบรรลุตามเป้าหมายได้

🔹การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอัตราดอกเบี้ย SLB รุ่นนี้ จะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการดำเนินงานที่มีเป้าหมายด้านความยั่งยืน 3 ประการ ดังนี้ <
SPT 1: การที่บริษัทได้ขึ้นทะเบียนใน DJSI Emerging Markets และ ได้รับการจัดอันดับเป็น 10 บริษัทแรกของ DJSI Food Products Industry Index
SPT 2: การลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้ได้ร้อยละ 4 ต่อปี
SPT 3: การเพิ่มการตรวจสอบด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ และ/หรือ มีผู้สังเกตการณ์ตรวจสอบบนเรือประมงปลาทูน่า ให้ได้ร้อยละ 5 ต่อปี

🔹จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง คือ ในปี 2024 และ ปี 2027 การปรับอัตราดอกเบี้ยแต่ละครั้งจะปรับจากอัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ออกหุ้นกู้ คือที่ 2.47% ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยจะถูกบวกเพิ่มตามเป้าหมายที่ทำไม่สำเร็จ หรือ จะถูกปรับลดลงในเป้าหมายที่ทำได้ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่จะถูกปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงของแต่ละเป้าหมายจะมีการกำหนดดังนี้
SPT 1:อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้นหรือลดลง 0.02% ต่อปี <
SPT 2:อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้นหรือลดลง 0.04% ต่อปี และ <
SPT 3:อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้นหรือลดลง 0.04% ต่อปี

🔹ดังนั้น นักลงทุนจึงมีโอกาสที่จะได้รับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็น 2.57% ต่อปีถ้าบริษัทไม่สามารถบรรลุเป้าหมายข้อใดได้เลย หรือหากบริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายได้ทุกข้อ ผู้ออกก็สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่ำสุดเป็น 2.37% ต่อปี

🔹ในแง่ของผู้ออก นอกจากการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนแล้ว ยังสามารถลดต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายลงได้หากประสบความสำเร็จตามตัวชี้วัดที่ได้กำหนดไว้

🔹 ด้านนักลงทุนก็มีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายขึ้นและได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้สังคมเติบโตอย่างยั่งยืน

🔹ส่วนตลาดตราสารหนี้ก็ทำหน้าที่ในการเป็นแหล่งระดมทุน และจัดสรรเงินทุนเพื่อนำไปใช้ในโครงการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนค่ะ

All Blogs