• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    May. 23, 2021
ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนในมาเลเซีย

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และ RAM Ratings ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับเครดิตของประเทศมาเลเซีย ได้จัดงานสัมมนา Scaling up Sustainable Finance in ASEAN: The Malaysian Journey โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืน (ESG bond) ในประเทศมาเลเซีย ดังนี้

มาเลเซียเริ่มออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนเป็นครั้งแรกในปี 2015 ในรูปแบบของ Sukuk (ตราสารหนี้อิสลาม) ออกโดย Ihsan Sukuk Berhad ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจภาครัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อออกตราสารหนี้อิสลามโดยเฉพาะ มูลค่าการออก 200 ล้านริงกิต หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการพัฒนาการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

หลังจากนั้นมาเลเซียก็มีการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2015 ถึงเดือนเมษายน 2021 มีมูลค่าการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนรวมแล้ว14,747 ล้านริงกิต หรือกว่า 100,000 ล้านบาทเลยทีเดียว โดย 65% นำเงินไปใช้ในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ อีก 35% นำเงินไปใช้ในโครงการเพื่อความยั่งยืนด้านต่างๆ เช่น การศึกษา อาคารประหยัดพลังงาน ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ และอื่นๆ

ในปี 2020 ที่ผ่านมา มาเลเซียเริ่มมีโครงการระดมทุนที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายความยั่งยืน (Sustainability Linked Financing) ในรูปแบบของเงินให้สินเชื่อ (Loan) มูลค่ารวมกว่า 4,000 ล้านริงกิต หรือกว่า 30,000 ล้านบาท โดยผลตอบแทนจะขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของโครงการในการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการลด carbon footprint การปล่อยกู้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในครั้งนี้ถือเป็นการพัฒนาตลาดตราสารหนี้และเงินกู้เพื่อความยั่งยืนของมาเลเซียให้มีรูปแบบการกู้ยืมที่หลากหลายมากขึ้น

นอกจากนี้ในปี 2020 รัฐบาลมาเลเซียได้ออก sustainability bond เพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ผ่านทาง Online มูลค่า 666 ล้านริงกิต ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีและมีนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาเข้ามาลงทุนด้วย ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการขยายฐานนักลงทุนใน Sustainability bond และล่าสุดในเดือนเมษายน 2021 มาเลเซียยังเป็นประเทศแรกในโลกที่เสนอขายตราสารหนี้อิสลาม (Sukuk) เชื่อมโยงกับความยั่งยืนที่เป็นสกุลเงินดอลล่าร์

การพัฒนาตลาด Sustainability Bond ของมาเลเซียในอนาคตขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การส่งเสริมให้มีผู้ออกที่นำเงินไปลงทุนในโครงการหลากหลายมากขึ้น การขยายฐานนักลงทุนให้ครอบคลุมถึงนักลงทุนรายย่อย เป็นต้น โอกาสเติบโตของตลาด Sustainability Bond ของมาเลเซียจึงยังมีอีกมากในอนาคต

All Blogs