Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Feb. 06, 2020
ย้อนรอยพันธบัตรทองคำของไทย

จากบทความก่อนหน้านี้ที่กล่าวถึงการออกพันธบัตรทองคำ (Sovereign Gold Bond) ของประเทศอินเดีย แต่รู้ไหม ประเทศไทยก็เคยมีการออกพันธบัตรทองคำมาก่อน....ราวเกือบ 80 ปีที่แล้ว

พันธบัตรทองคำของไทยออกตามพระราชบัญญัติกู้เงินในประเทศ พ.ศ. 2485 และกฏกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 17 พ.ค. 2486 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปชดเชยเงินคงคลังเนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงและภาระค่าใช้จ่ายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ตราสารหนี้รุ่นนี้เป็นการระดมเงินทุนจากประชาชนวงเงินรวม 30 ล้านบาท อายุ 8 ปี และจ่ายอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี โดยแบ่งการจำหน่ายเป็น 4 รุ่นตามราคาหน้าตั๋ว ดังนี้

1. ราคา 50 บาท จำนวน 40,000 ฉบับ

2. ราคา 100 บาท จำนวน 10,000 ฉบับ

3. ราคา 1,000 บาท จำนวน 10,000 ฉบับ และ

4. ราคา 10,000 บาท จำนวน 1,700 ฉบับ

ส่วนคุณลักษณะของพันธบัตรทองคำนี้คือ เมื่อครบกำหนดนักลงทุนสามารถเลือกได้ว่าจะขอรับชำระเงินต้นคืนตามราคาหน้าตั๋วที่ตราไว้หรือจะรับเงินต้นคืนในรูปของทองคำก็ได้ โดยต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือนก่อนถึงวันครบกำหนด ซึ่งกระทรวงการคลังจะซื้อทองคำที่เป็นทุนสำรองเงินตราของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อนำมาจัดทำเป็นเหรียญทองคำและแท่งทองคำที่ออกแบบโดยนายช่วง สเลลานนท์ ช่างศิลป์ของ ธปท. และมีกองกษาปณ์ กรมคลังเป็นผู้ดำเนินการจัดทำ และว่าจ้างบริษัทบาโรเบราว์เป็นผู้ทำเบ้าหลอมทองคำ โดยเหรียญทองคำมีการผลิต 3 แบบ ได้แก่ 50 บาท 100 บาท และ 1,000 บาท ส่วนแท่งทองคำก็ผลิตออกมา 3 แบบเช่นกัน ได้แก่ ราคา 10,000 บาท 100,000 บาท และเป็นน้ำหนักเฉพาะตามราคาพันธบัตรที่ถือครองโดยนักลงทุน สำหรับปัจจุบันหากท่านใดอยากเห็นเหรียญทองคำและแท่งทองคำ สามารถไปชมได้ที่วัตถุพิพิธภัณฑ์ของ ธปท.

แม้ในปัจจุบันจะไม่มีการออกพันธบัตรทองคำรูปแบบดังกล่าวในตลาดตราสารหนี้ไทยแล้วเนื่องจากกฏเกณฑ์ในปัจจุบันไม่รองรับ อย่างไรก็ตามหากในอนาคตมีการปรับหลักเกณฑ์ ก็ไม่แน่นะครับอาจจะมีผู้สนใจมาออกก็เป็นได้เพื่อเป็นการดึงดูดและเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุน ท่ามกลางแนวโน้มสภาวะดอกเบี้ยที่น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำไปอีกสักพัก (ใหญ่ๆ)

All Blogs