• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Jun. 16, 2018
รู้จักกับ AMRO องค์กรความร่วมมือเพื่อความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของอาเซียน+3

วิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 1997 ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเทศในอาเซียนได้ตระหนักถึงความจำเป็นของความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมที่สามารถช่วยเหลือกันเองภายในภูมิภาคได้ เพื่อเป็นการเตรียมตัวและรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต เป็นผลให้ในปี 2000 กระทรวงการคลังและธนาคารกลางของประเทศสมาชิกอาเซียน+3ได้บรรลุข้อตกลงความคิดริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี(Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) เพื่อเป็นการสร้างกลไกให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องระยะสั้นแก่สมาชิกที่ประสบปัญหาฉุกเฉิน และในปี 2011 ได้จัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศในนามสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3(ASEAN+3 Macroeconomic Research Office:AMRO)ขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ CMIMโดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์

เพื่อที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือสมาชิกกันเองได้อย่างทันท่วงที AMRO จึงมีภารกิจสำคัญในการติดตามและประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินของประเทศสมาชิกว่ามีความเสี่ยงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือขาดสภาพคล่องหรือไม่ รวมถึงประเมินเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาค ตลอดจนให้คำเสนอแนะเชิงนโยบายแก่ประเทศสมาชิกโดยในปี 2017AMRO ได้เริ่มจัดทำรายงานภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน+3 ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐกิจและการเงิน และเผยแพร่ต่อผู้ประกอบการและนักลงทุนทั่วไปเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า AMRO มีหน้าที่คล้ายคลึงกับกองทุนการเงินระดับโลกอย่าง IMFในด้านการสอดส่องดูแลเศรษฐกิจมหภาคและการเงินของประเทศสมาชิกจึงเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่สะท้อนความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการเงินภายในภูมิภาคอาเซียน+3ได้เป็นอย่างดี

Note: ASEAN+3 ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

All Blogs