การออกหุ้นกู้ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Nov 02, 2018
การออกหุ้นกู้ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์

หลังจากประเด็นเรื่อง Search for yield ที่ดูจะผ่อนคลายลง ช่วงนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้ความสนใจเรื่อง Loan to value (LTV) หรืออัตราส่วนการให้สินเชื่อเพื่อซื้อบ้านเทียบกับมูลค่าบ้าน เนื่องจากพบว่าสถาบันการเงินบางแห่งมีการให้สินเชื่อเกินกว่ามูลค่าบ้าน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณหนึ่งของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์อันจะนำไปสู่การเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูงขึ้น ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ ผู้ประกอบการในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มการระดมทุนจากตราสารหนี้เป็นอย่างไร วันนี้เรามาอัพเดทไปด้วยกัน

การออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้) ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 16% ต่อปีนับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทย ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าคงค้างของหุ้นกู้ที่ออกโดยกลุ่มอสังหาฯ มีสัดส่วนประมาณ 11-12% ของมูลค่าคงค้างรวมของตลาดหุ้นกู้ โดยมีมูลค่าคงค้างราว 3.3 แสนล้านบาท ณ สิ้นกันยายน 2561

สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ กลุ่มอสังหาฯ มียอดการออกหุ้นกู้รวมมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าราว 27 % โดยจำนวนผู้ออกเพิ่มขึ้นจาก 39 ราย เป็น 43 รายในช่วงดังกล่าว ผู้ออกที่มีอันดับเครดิตสูง (ตั้งแต่ AA- ขึ้นไป) มีสัดส่วนการออกสูงขึ้น ส่วนผู้ออกที่มีอันดับเครดิตต่ำ (ตั้งแต่ BB+ ลงมา) และผู้ออกที่ไม่จัดอันดับเครดิต (Non-rated) มีสัดส่วนการออกที่ลดลง โดยในกลุ่ม Non-investment gradeเกินครึ่งเป็นการออกในรูปแบบของหุ้นกู้มีประกัน (Secured Bond) เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ปัจจุบันมูลค่าคงค้างของหุ้นกู้กลุ่มอสังหาฯ ในระดับ Investment grade คิดเป็นสัดส่วน 76% ของมูลค่าคงค้างหุ้นกู้กลุ่มอสังหาฯ ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 65% ในปี 2559

จะเห็นได้ว่า มูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มีการเติบโตมากขึ้นตามทิศทางการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ไทย เนื่องจากผู้ประกอบการใช้โอกาสที่ทิศทางดอกเบี้ยขาลงในการระดมทุนจากตราสารหนี้ ซึ่งนอกจากผู้ออกจะมีต้นทุนการกู้ที่ลดลงแล้ว นักลงทุนในตลาดยังมีทางเลือกลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดีอันดับความน่าเชื่อถือสูง หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Secured bond) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุน

Green bond

All Blogs