ผลตอบแทนของ Green bond ต่างจากตราสารหนี้ทั่วไปหรือไม่
  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Nov 16, 2018
ผลตอบแทนของ Green bond ต่างจากตราสารหนี้ทั่วไปหรือไม่

Green bond หรือตราสารหนี้สีเขียว เริ่มเป็นที่รู้จักของนักลงทุนมาระยะหนึ่งแล้วในฐานะเป็นตราสารหนี้ประเภทใหม่ในการระดมทุนเพื่อใช้ลงทุนในโครงการที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการพลังงานสะอาด การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การขนส่ง และอาคารสีเขียว เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีผู้สนใจระดมทุนด้วยการออก Green bond รวมถึงมีนักลงทุนสนใจลงทุนกันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ประเด็นที่เชื่อว่าหลายคนอยากทราบก็คือ “Green bond ให้ผลตอบแทนแตกต่างจากตราสารหนี้ทั่วไปหรือไม่” เช่น ผู้ออกจะจ่ายดอกเบี้ยต่ำลงไหม หรือ นักลงทุนจะได้ผลตอบแทนลดลงหรือมากขึ้นหรือเปล่า

ที่ผ่านมา มีงานวิจัยหลายชิ้นในประเด็นนี้ ซึ่งมีผลการศึกษาแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ 1) พบว่ามีความแตกต่างของผลตอบแทน โดยอัตราผลตอบแทน (Yield) ของ Green bond ต่ำกว่า Yield ของตราสารหนี้ทั่วไปราว8-17 bps. และ 2) ไม่พบความแตกต่างกล่าวคือ Yield ของ Green bond ให้ผลตอบแทนไม่ต่างไปจากตราสารหนี้ทั่วไป

เนื่องจากผลการศึกษาในอดีตยังไม่ได้ข้อสรุปในทางเดียวกัน ล่าสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือ ADB (Asian Development Bank) *จึงได้ทำการศึกษาในประเด็นนี้อีกครั้งโดย ADB ดำเนินกระบวนการศึกษา 4 ขั้นตอน ดังนี้


1. เลือก Green bond ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ Green Bond Principles (GBP) และเสนอขายในช่วงปีพ.ศ. 2553-2560
2. คัดกรองข้อมูลโดยจับคู่ Green bond และตราสารหนี้ทั่วไปที่มีคุณลักษณะต่างๆเหมือนกัน เช่น มีผู้ออกรายเดียวกัน สกุลเงินเดียวกัน อันดับความน่าเชื่อถือเท่ากันและอายุใกล้เคียงกัน เป็นต้น ทำให้ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 60 คู่
3. หาส่วนต่างของอัตราผลตอบแทน (Yield) ระหว่าง Green bond และตราสารหนี้ทั่วไปที่นำมาจับคู่ ส่วนต่างนี้จะเรียกว่า “Green premium” ซึ่งอาจได้ค่าเป็นบวก(positive) หรือลบ(Negative) ก็ได้ ค่าบวกแปลว่า Green bond มี yield สูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป ในขณะที่ค่าลบแปลว่า Green bond มี Yield ที่ต่ำกว่าตราสารหนี้ทั่วไป
4. นำค่า Green premium มาวิเคราะห์การถดถอย (Regression) เพื่อกำจัดเงื่อนไขด้านสภาพคล่อง

ผลการศึกษาพบว่าแม้ Green bond premium จะเป็นลบเล็กน้อยในกลุ่มตัวอย่าง (-0.4 bp) แต่โดยเฉลี่ย อัตราผลตอบแทน (Yield) ของ Green bond ไม่มีความแตกต่างจากตราสารหนี้ทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตามหาก Green bond นั้นมีเครื่องบ่งชี้ความเป็นสีเขียวหรือเครื่องหมายรับประกันการเป็นตราสารหนี้สีเขียว (Greenness indicators) ได้แก่ การประเมินจากบุคคลภายนอก (External reviewer) หรือ การรับรองตามหลักเกณฑ์ Climate Bonds Initiative (CBI) จะทำให้ค่า Green premium ลดลงหรือติดลบมากขึ้น โดยทำให้ Yield ของ Green bond ต่ำกว่าตราสารหนี้ทั่วไปราว6-8bps.

นั่นหมายความว่านักลงทุนยอมที่จะรับผลตอบแทนจากการลงทุนใน Green bond ที่ต่ำกว่าตราสารหนี้ทั่วไปเล็กน้อยหากเชื่อมั่นได้ว่าผู้ออกจะนำเงินไปใช้ในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน ส่วนในแง่ของผู้ออกนั่นจะหมายถึงต้นทุนดอกเบี้ยที่จะต่ำลงจากการออก Green bond

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าวงเงินที่ออก (Issue size) ยิ่งมีมูลค่าสูง Green bond premium ยิ่งมีแนวโน้มติดลบมากขึ้น เนื่องจากสภาพคล่องของ Green bond ที่จะมีมากขึ้น ขณะที่หากอายุของตราสารยิ่งยาวก็ยิ่งทำให้ Green bond premium เพิ่มขึ้นจากผลของ Term premiumและท้ายที่สุดพบว่า Green bond ที่ออกในสกุลเงินยูโรจะมี Negative green premium ที่มากกว่า Green bond ที่ออกในสกุลเงินอื่นอันเนื่องมาจากตลาดยุโรปมีฐานผู้ออกและนักลงทุนใน Green bond ที่หลากหลายกว่านั่นเอง

แม้ผลการศึกษาทางสถิติล่าสุดนี้อาจจะยังไม่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ออกตราสารหนี้ที่หวังจะได้ต้นทุนถูกลง แต่อย่าลืมว่าตลาด Green bond ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและจากการศึกษาก็พบแนวโน้มว่า Yield ของ Green bond อาจต่ำกว่าตราสารหนี้ปกติในตลาดที่มีฐานนักลงทุนกว้างขึ้น ดังนั้น หากทุกฝ่ายช่วยกันสนับสนุนก็จะทำให้มีเครื่องมือการระดมทุนประเภทใหม่ที่ช่วยในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและนักลงทุนก็ได้ทั้งผลตอบแทนและมีส่วนช่วยลดโลกร้อนไปพร้อมกัน

*ผลการศึกษาฉบับเต็มสามารถดูได้ที่ https://asianbondsonline.adb.org/documents/abm_jun_2018.pdf

Green bond

All Blogs