Individual Investors

เริ่มต้นเรียนรู้ตราสารหนี้

• มารู้จักกับพันธบัตร ตราสารหนี้ หุ้นกู้  

นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะคุ้นเคยกับตราสารทุน หรือ หุ้น เนื่องจากเป็นตราสารหนี้ที่เข้าใจง่าย ไม่มีความซับซ้อน แต่หากกล่าวถึงตราสารหนี้ หลายท่านก็มักจะเริ่มทำหน้าสงสัย แต่เมื่อกล่าวถึงพันธบัตรออมทรัพย์ หุ้นกู้ และตั๋วแลกเงิน ก็จะเริ่มถึงบางอ้อ บางท่านก็อาจจะเคยลงทุนบ้างแต่ก็มักจะไม่ทราบว่าทั้งหมดนี้เรียกโดยรวมว่า ตราสารหนี้ และไม่ทราบว่าตราสารหนี้เหล่านี้แตกต่างกันอย่างไร ทำไมถึงต้องมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน
บทความนี้จึงเป็นการแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับตราสารหนี้มากขึ้น โดยจะขอนำเสนอด้วยแผนภาพ ดังต่อไปนี้
ตราสารหนี้ โดยหลัก ๆ แล้ว ออกโดย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. รัฐบาล / หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะประกอบไปด้วย 3 องค์กรย่อย ได้แก่
1.1 รัฐบาล(Government)
• ตั๋วเงินคลัง (Treasury bill): เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น มีอายุไม่เกิน 365 วัน
• พันธบัตรรัฐบาล (Loan bond): เป็นตราสารหนี้ระยะยาว มีอายุตั้งแต่ 365 วัน
1.2 ธนาคารแห่งประเทศ (Bank of Thailand)
• ตั๋วเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (Central bank bill): เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น มีอายุไม่เกิน 365 วัน
• พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand bond): เป็นตราสารหนี้ระยะยาวมีอายุตั้งแต่ 365 วัน
1.3 รัฐวิสาหกิจ (State-owned-enterprise)
• พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (State-owned-enterprise bond): เป็นตราสารหนี้ระยะยาว มีอายุมากกว่า 365 วัน
2. บริษัทเอกชน (Corporate company) ตราสารหนี้ที่ออกโดยกลุ่มนี้จะเรียกโดยรวมว่า หุ้นกู้ (Corporate bond)ทั้งนี้ สามารถเลือกออกเป็นระยะสั้น ซึ่งมีอายุไม่เกิน 270 วัน หรือ ระยะยาว ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 270 วัน ก็ได้
3. องค์กรต่างประเทศ (Foreign) ตราสารหนี้ที่ออกโดยกลุ่มนี้จะเรียกว่า ตราสารหนี้ต่างประเทศ (Foreign bond) โดยอาจจะเป็นบริษัทต่างชาติ หรือ หน่วยงานภาครัฐต่างชาติก็ได้ ส่วนใหญ่มักออกเป็นตราสารหนี้ระยะยาว

• หุ้นกับหุ้นกู้ต่างกันอย่างไร  

“หุ้นกู้” จัดเป็นตราสารหนี้ ผู้ถือตราสารหรือนักลงทุน “มีสถานะเป็นเจ้าหนี้” ผลตอบแทนที่ได้จะมีความสม่ำเสมอและแน่นอนโดยอยู่ในรูปของดอกเบี้ย (Interest) ตลอดอายุตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ โดยความเสี่ยงจะขึ้นอยู่กับอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ (Credit rating) ว่าบริษัทนั้นมีความแข็งแกร่งเพียงใด มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นหรือไม่
“หุ้น” จัดเป็นตราสารทุน ผู้ถือตราสารหรือนักลงทุน“มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของร่วมในบริษัท” ผลตอบแทนที่ได้จะไม่แน่นอน โดยจะมีทั้งส่วนต่างราคาหุ้น (Capital gain) ซึ่งมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงผันผวนของราคาได้ทุกวัน (อาจจะกำไรหรือขาดทุนก็ได้) และมีเงินปันผล (Dividend Yield)ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับผลกำไรของบริษัท
ความแตกต่างที่สำคัญอีกอย่างระหว่าง ตราสารหนี้ กับ ตราสารทุน ก็คือ ในกรณีที่ผู้ออกตราสารไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้และอยู่ในสภาพล้มละลาย สิทธิการเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัทผู้ออกตราสารจะแตกต่างกัน โดยผู้ถือตราสารหนี้ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกร้องความเสียหายได้ก่อนผู้ถือตราสารทุนที่มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นไม่ว่าจะเป็นหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิก็ตาม
ดังนั้น โดยสรุปสั้น ๆ
“หุ้นกู้” คือ การลงทุนในรูปแบบ “ให้ยืมเงิน (ผู้ลงทุนเป็นเจ้าหนี้)” ผลตอบแทนแน่นอน
“หุ้น” คือ การลงทุนในรูปแบบ “ร่วมเป็นผู้ถือหุ้น” ผลตอบแทนไม่แน่นอน
ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง หุ้น และ หุ้นกู้

• การลงทุนในตราสารหนี้มีประโยชน์อย่างไร  

1. ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินกับธนาคาร แต่มีความเสี่ยงที่ต่ำใกล้เคียงกัน: ปัจจุบัน (2560)การฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์กับธนาคารให้ดอกเบี้ยเพียง0.25-0.75%เท่านั้นขณะที่พันธบัตรออมทรัพย์ที่ถือว่าปราศจากความเสี่ยงในเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ให้ผลตอบแทนสูงสุดถึง 3% และหากผู้ลงทุนสามารถยอมรับความเสี่ยงในระดับที่สูงขึ้นได้ ก็สามารถที่จะเลือกลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่มีความน่าเชื่อถือและมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งได้ซึ่งจะเสนออัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ขึ้นไปอีก
2. เป็นแหล่งรายได้ที่สม่ำเสมอและคาดการณ์ได้: ตราสารหนี้เป็นพันธะสัญญาที่ระบุไว้อย่างชัดเจนให้ผู้ออกตราสารหนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยตามจำนวนงวดที่ระบุไว้ให้แก่ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ จนกระทั่งเมื่อครบกำหนดอายุไถ่ถอนก็จะต้องจ่ายคืนเงินต้นทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้าย (ถ้ามี)อีกด้วย ทำให้ง่ายต่อการคาดการณ์ว่าในแต่ละปีจะมีรายได้จากดอกเบี้ยปีละเท่าไร และจะได้ในช่วงเวลาใด จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการรายได้ที่แน่นอนสม่ำเสมอ
3. เงินลงทุนมั่นคงปลอดภัย: ตราสารหนี้ของภาครัฐถือเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยไม่มีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Risk-free) เนื่องจากมีรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ออกตราสารหนี้ ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนนักลงทุนสามารถที่จะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทที่สนใจลงทุนได้จาก อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating)ดังภาพ ซึ่งจะเห็นว่ายิ่งอยู่ในอันดับที่สูงก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่ำ
4. ตัวช่วยในการลดความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอการลงทุน:เนื่องจากตราสารหนี้จัดเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ จึงทำให้กลายเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่เป็นที่นิยมในการนำไปใช้ประกอบการจัดกลุ่มสินทรัพย์ลงทุน (Asset Allocation) เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอการลงทุน
5. สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ โดยไม่ต้องรอครบกำหนดอายุไถ่ถอน: ตราสารหนี้มีตลาดรองที่เปิดให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือได้โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันครบกำหนดอายุ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผู้ลงทุนต้องพึงระวัง คือ สภาพคล่องในการซื้อขายซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามแต่ตราสารหนี้นั้น ๆ

• ตราสารหนี้มีกี่ประเภท  

จากบทความก่อนหน้านี้ที่ได้อธิบายว่า ผู้ที่ออกตราสารหนี้สามารถออกได้โดย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาครัฐ บริษัทเอกชน และองค์กรต่างประเทศ อย่างไรก็ตามตราสารหนี้ที่ออกเหล่านี้สามารถออกได้หลากหลายประเภทและมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับผู้ออกว่าต้องการกำหนดให้ตราสารหนี้แต่ละรุ่นมีลักษณะอย่างไรบ้าง ดังต่อไปนี้
1. ตราสารหนี้มีประกัน (Secured bond) ตราสารหนี้ประเภทนี้ผู้ออกจะนำสินทรัพย์ซึ่งอาจเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน ตึก หรือ สังหาริมทรัพย์ เช่น สินค้าในโรงงาน มาเป็นหลักประกันในการออก โดยผู้ลงทุนหรือผู้ถือจะมีบุริมสิทธิเหนือสินทรัพย์นั้น โดย ก.ล.ต. บังคับว่าหุ้นกู้ประเภทนี้จะต้องจัดให้มี “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” ทำหน้าที่แทนผู้ถือหุ้นกู้ในการรับจำนอง จำนำ หรือรับหลักประกัน และใช้สิทธิบังคับหลักประกัน รวมทั้งตรวจสอบสถานะของสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันด้วยทำให้ตราสารหนี้ประเภทนี้จัดเป็นเจ้าหนี้ลำดับต้นๆ ที่มีสิทธิในการเรียกร้องชำระหนี้
การออกตราสารหนี้ประเภทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้แก่นักลงทุน ในบางกรณีบริษัทเอกชนบางรายอาจมีฐานะทางการเงินไม่ดีพอที่จะดึงดูดนักลงทุนให้มาซื้อตราสารหนี้ได้ จึงต้องใช้หลักประกันมาช่วยเสริม หรือในกรณีที่เป็นการออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนในการสร้างโครงการใดๆ ก็สามารถนำทรัพย์สินของโครงการนั้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้
2. ตราสารหนี้ไม่มีประกัน(Unsecured bond) ตราสารหนี้ประเภทนี้จะไม่ได้จัดให้มีหลักประกันใดๆ ในการออก โดยผู้ออกตราสารหนี้ชนิดนี้สามารถออกให้เป็นตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior bond) ซึ่งจะมีฐานะเทียบเท่าเจ้าหนี้สามัญทั่วไปของบริษัทหรืออาจออกให้เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated bond) ที่มีการกำหนดสิทธิของผู้ถือไว้ต่ำกว่าสิทธิของเจ้าหนี้สามัญทั่วไปก็ได้
2.2 ตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ (Seniorbond) ตราสารหนี้ประเภทนี้ นักลงทุนหรือผู้ถือจะมีสิทธิทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆในการเรียกร้องให้ชำระหนี้ โดยได้สิทธิเรียกร้องก่อนผู้ถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และผู้ถือหุ้นสามัญตามลำดับ
2.1 ตราสารหนี้ด้อยสิทธิ (Subordinated bond) ตราสารหนี้ประเภทนี้ นักลงทุนหรือผู้ถือ แม้ว่าจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้แต่จะมีสิทธิที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆในการเรียกร้องการชำระหนี้จากบริษัทผู้ออกหากมีการผิดนัดชำระหนี้หรือล้มละลาย แต่ยังได้รับสิทธิเรียกร้องก่อนผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นสามัญ
การแบ่งประเภทตราสารหนี้ตามสิทธิการเรียกร้องทั้งสองกรณีข้างต้นนี้ จะเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีที่จะมีการเฉลี่ยทรัพย์หรือการชำระบัญชีบริษัท เนื่องจากบริษัทผู้ออกตราสารถูกพิทักษ์ทรัพย์ ถูกพิพากษาให้ล้มละลาย มีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ หรือกรณีอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. แต่ถ้าไม่มีกรณีดังกล่าว การชำระดอกเบี้ยและเงินต้นในระหว่างงวดหรือเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนจะเป็นไปตามปกติที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน
1. ตราสารหนี้จ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed-rate bond) คือ ตราสารหนี้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ตามที่ระบุไว้ตั้งแต่ตอนออกและจะคงที่ตลอดอายุของตราสารหนี้ โดยส่วนใหญ่ตราสารหนี้จะมีลักษณะการจ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่
2. ตราสารหนี้จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating rate noteหรือ FRN) คือ ตราสารหนี้ที่กำหนดการจ่ายอัตราดอกเบี้ยแปรเปลี่ยนไปตามอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงหรือดัชนีอ้างอิง เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงหรือดัชนีอ้างอิงดังกล่าว จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้เปลี่ยนแปลงไปด้วย
ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ออกตราสารหนี้ย่อมต้องการออกตราสารหนี้แบบจ่ายดอกเบี้ยคงที่เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ต้นทุนดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม ผู้ซื้อหรือนักลงทุนจะมีความต้องการในตราสารหนี้แบบดอกเบี้ยลอยตัว เพราะจะไม่เสียโอกาสที่จะได้รับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
ในทำนองเดียวกัน หากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง นักลงทุนย่อมต้องการลงทุนในตราสารหนี้แบบจ่ายดอกเบี้ยคงที่ เพื่อล็อคผลตอบแทนไว้ไม่ให้ลดลงตามแนวโน้มดอกเบี้ยที่ลดลง ในขณะที่ผู้ออกก็จะอยากออกตราสารหนี้แบบจ่ายดอกเบี้ยลอยตัว เนื่องจากมีโอกาสจะที่ต้นทุนทางการเงินจะลดลงตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง
1. ตราสารหนี้ประเภทจ่ายคืนเงินต้นเพียงครั้งเดียว ณ วันครบกำหนดไถ่ถอน (Bullet bond) ตราสารหนี้ประเภทนี้จะจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยในแต่ละงวดไปจนกว่าจะถึงงวดสุดท้ายที่ครบกำหนดไถ่ถอน จึงจะชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้ายให้แก่นักลงทุนหรือผู้ถือ
2. หุ้นกู้ประเภททยอยจ่ายคืนเงินต้น (Amortizing bond) คือ ตราสารหนี้ประเภทที่ผู้ออกจะทยอยจ่ายคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือในแต่ละงวด แทนที่จะเป็นการจ่ายคืนเงินต้นครั้งเดียวเมื่อครบกำหนดอายุดังเช่นตราสารหนี้ปกติ
1. ตราสารหนี้แปลงสภาพ (Convertible bond) เป็นตราสารหนี้ที่ให้สิทธิแก่นักลงทุนหรือผู้ถือในการแปลงสภาพจากตราสารหนี้ไปเป็นหุ้นสามัญตามอัตรา ราคาแปลงสภาพ และเวลาที่กำหนดไว้ หุ้นกู้ประเภทนี้จะได้รับความนิยมในช่วงที่ตลาดหุ้นมีแนวโน้มที่ดีเนื่องจากหากใช้สิทธิแปลงสภาพจะทำให้ได้ราคาหุ้นที่ต่ำกว่าในตลาด
2. ตราสารหนี้ที่ผู้ออกมีสิทธิเรียกไถ่ถอนก่อนกำหนด (Callable bond) คือ ตราสารหนี้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ออกในการเรียกคืน (call) หรือไถ่ถอนตราสารหนี้นั้นก่อนกำหนด ก่อนการลงทุนผู้ถือตราสารหนี้ควรจะต้องทราบเงื่อนไขการไถ่ถอนก่อนกำหนดนี้ด้วยเนื่องจากมีผลต่อผลตอบแทนของตราสารหนี้
โดยทั่วไปตราสารหนี้จะถูก Call ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลงจนทำให้ต้นทุนของตราสารหนี้เดิมนั้นสูงเกินควร หรือในกรณีที่อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกเพิ่มขึ้นทำให้สามารถออกตราสารใหม่ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตราสารหนี้เดิมของตน
3. ตราสารหนี้ที่ผู้ถือมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด (Puttable bond) หมายถึงตราสารหนี้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ลงทุนหรือผู้ถือในการขอไถ่ถอนก่อนครบกำหนด โดยรายละเอียดของเงื่อนไขและวิธีการจะกำหนดล่วงหน้าตั้งแต่วันออกตราสารหนี้ เช่น การกำหนดว่าผู้ออกต้องดำรงอันดับความน่าเชื่อถือไม่ต่ำกว่าระดับใด และหากไม่สามารถทำได้ ผู้ถือตราสารมีสิทธิที่จะขอไถ่ถอนก่อนกำหนดเป็นต้น
1. ตราสารหนี้จากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitized bond) คือ ตราสารหนี้ที่เกิดจากกระบวนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) โดยส่วนใหญ่จะนำสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดกระแสเงินรับในอนาคตมาค้ำประกันการออกตราสารหนี้ เพื่อระดมทุนไปใช้ในการขยายโครงการลงทุนอื่นของบริษัทต่อไปการจ่ายดอกเบี้ยจะมาจากกระแสเงินสดที่ได้รับจากตัวสินทรัพย์ที่นำมาแปลงนั้น เช่น ค่าไฟฟ้าในอนาคต ค่าเดินทาง ลูกหนี้สินเชื่อต่างๆ โดยปกติตราสารหนี้ประเภทนี้จะมีอันดับความน่าเชื่อถือสูง เนื่องจากมีสินทรัพย์ค้ำประกัน หรือมีกระบวนการเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถืออื่น ๆ (Credit enhancement)
ในประเทศไทย เริ่มมีแนวโน้มที่จะมีการออกตราสารประเภทนี้เพิ่มมาขึ้นเรื่อยๆ โดยสถาบันการเงิน หรือ บริษัทที่ให้บริการสินเชื่อต่างๆมีการนำเอาสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเครดิตการ์ด สินเชื่อผ่อนบ้านมาแปลงเป็นหลักทรัพย์ ซึ่งตราสารหนี้ชนิดนี้ถือว่ามีความสำคัญเชิงเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการทำให้สินทรัพย์ที่เปลี่ยนมือได้ยากกลายเป็นหลักทรัพย์ที่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ง่าย จึงเป็นการเพิ่มสภาพคล่องแก่สถาบันการเงินต่าง ๆ ที่นำสินทรัพย์เหล่านี้มาแปลงเป็นหลักทรัพย์เป็นการช่วยลดภาระการดำรงเงินกองทุน และเพิ่มเงินสดสำหรับใช้ในการดำเนินกิจการต่อไป
2. ตราสารหนี้ประเภทไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (Perpetual Bond) คือตราสารหนี้ที่ไม่มีวันหมดอายุ โดยจะไม่มีการกำหนดวันไถ่ถอนคืนจนกว่าบริษัทจะเลิกกิจการ และจะมีการจ่ายดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องตามที่กำหนดตราสารหนี้ชนิดนี้จึงมีลักษณะกึ่งทุน อย่างไรก็ตามปัจจุบันพบว่าตราสารหนี้ประเภทนี้มักจะมีสิทธิแฝงให้ผู้ออกสามารถไถ่ถอนก่อนครบกำหนดได้ตามระยะเวลาที่ระบุ

• ส่วนประกอบของตราสารหนี้  

แม้ว่าตราสารหนี้จะมีอยู่ด้วยกันหลากหลายประเภทดังที่กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้า แต่ส่วนประกอบหลักของตราสารหนี้ทุกประเภทนั้นจะมีเหมือนกันหมด ดังต่อไปนี้
1. มูลค่าที่ตราไว้/ มูลค่าหน้าตั๋ว (Par value) คือ มูลค่าเงินต้นที่ผู้ออกตราสารหนี้สัญญาจะชำระคืนให้กับผู้ลงทุนตราสารหนี้เมื่อครบกำหนดอายุไถ่ถอน ทั้งนี้ ตราสารหนี้ส่วนใหญ่จะกำหนดPar value ที่ 1,000 บาทต่อหน่วย
2. อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกตราสารหนี้สัญญาจะจ่ายให้กับผู้ลงทุนในตราสารหนี้ตามงวดที่กำหนดตลอดอายุของตราสารหนี้นั้น ๆ โดยสามารถกำหนดเป็น “ดอกเบี้ยคงที่” หรือ “อัตราดอกเบี้ยลอยตัว” ก็ได้ ทั้งนี้ ดอกเบี้ยที่จะได้รับคำนวณโดยการนำ Coupon rate คูณกับ Par valueเช่น 8% ต่อปีคูณกับ 1,000 จะได้ Coupon เท่ากับ 80 บาทส่วนอัตราดอกเบี้ยลอยตัวจะอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยต่างๆ เช่น อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี(ณ เวลานั้นอยู่ที่ 0.5%) +1%เป็นต้นจะได้ Coupon rateที่ 1.5% คิดเป็น Coupon เท่ากับ 15 บาท เป็นต้น
3. งวดการจ่ายดอกเบี้ย (Coupon frequency) เป็นการระบุจำนวนงวดของการจ่ายดอกเบี้ยต่อปี เช่น จ่ายทุก 6 เดือน (2 ครั้งต่อปี), จ่ายทุกไตรมาส (4 ครั้งต่อปี) เป็นต้นทั้งนี้ ตราสารหนี้ส่วนใหญ่ในตลาดโดยเฉพาะพันธบัตรภาครัฐจะกำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน
4. วันที่เสนอขาย (Issue Date) คือ วันที่มีการเสนอขายตราสารหนี้นั้น ๆ
5. วันครบกำหนดไถ่ถอน (Maturity date) คือ วันครบกำหนดอายุของตราสารหนี้ซึ่งผู้ออกจะต้องจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยงวดสุดท้าย (ถ้ามี) ให้กับผู้ลงทุนในตราสารหนี้
6. อายุของตราสารหนี้ (Issue Term/Tenor) ซึ่งจะมีทั้งตราสารหนี้ระยะสั้น และ ตราสารหนี้ระยะยาว ทั้งนี้ สำหรับตราสารหนี้ภาครัฐจะใช้เกณฑ์อายุที่ 365 วันเป็นตัวกำหนด หากอายุไม่เกิน 365 วันจะเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น หากอายุมากกว่า 365 วัน จะเป็นตราสารหนี้ระยะยาว ขณะที่ตราสารหนี้ภาคเอกชนจะใช้เกณฑ์อายุที่ 270 วันเป็นตัวกำหนด หากอายุไม่เกิน 270 วันจะเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น หากอายุมากกว่า 270 วันจะเป็นตราสารหนี้ระยะยาว
7. ชื่อผู้ออกตราสารหนี้ (Issuer name) เป็นการระบุว่าใครเป็นผู้ออกตราสารหนี้นั้น ซึ่งหลัก ๆ ก็จะมี 2 กลุ่ม ได้แก่ ภาครัฐและ ภาคเอกชน นั่นเอง
8. ประเภทของตราสารหนี้ (Type) เป็นการระบุประเภทของตราสารหนี้นั้น เช่น หุ้นกู้มีประกัน/ไม่มีประกันหุ้นกู้ด้อยสิทธิ/ไม่ด้อยสิทธิ เป็นต้น
9. อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating) เป็นข้อมูลที่แสดงถึงการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้ อันดับความน่าเชื่อถือที่สูงก็ถือว่ามีความปลอดภัยสูง หรือแปลได้ว่า มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระเงินต้นคืน ค่อนข้างต่ำ อันดับความน่าเชื่อถือนี้จะประเมินจากประวัติทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ โดยบริษัทจัดอันดับเครดิตเป็นผู้ทำการประเมิน
10. เงื่อนไขพิเศษ (Options)เป็นการระบุถึงสิทธิพิเศษที่ให้แก่ผู้ออกตราสารหนี้ / ผู้ลงทุนตราสารหนี้ ในการเลือกที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้หรือไม่ เช่น ผู้ออกมีสิทธิในการไถ่ถอนตราสารหนี้ก่อนกำหนด (Call option), ผู้ลงทุนมีสิทธิในการขายคืนตราสารหนี้ก่อนกำหนด (Put option), ผู้ลงทุนมีสิทธิในการแปลงสภาพของตราสารหนี้ (Convert option) เป็นต้น
11. ข้อสัญญา (Covenants) เป็นเงื่อนไขที่ผู้ออกหุ้นกู้จะต้องปฏิบัติ (Affirmative covenants) หรือ ต้องไม่ปฏิบัติ (Negative covenants) สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ลงทุนในตราสารหนี้นั้น ๆ เช่น กำหนดให้ผู้ออกตราสารหนี้จะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (debt to equity ratio) ให้ไม่เกินอัตราที่ระบุไว้ เป็นต้น

• วิธีอ่านสัญลักษณ์ตราสารหนี้ 

เนื่องจากจำนวนรุ่นของตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ออกเสนอขายในตลาดมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดสัญลักษณ์ของตราสารหนี้ให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อสื่อความหมายให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจตรงกัน โดยท่านอาจสังเกตตัวอย่างได้จากตารางในหน้าที่ผ่านมา ซึ่งจะพบสัญลักษณ์ของตราสารหนี้ปรากฏอยู่ควบคู่กับราคา และอัตราผลตอบแทน
ThaiBMA ได้กำหนดมาตรฐานสัญลักษณ์ตราสารหนี้และประกาศใช้เมื่อปี 2543 ตั้งแต่ยังมีสถานะเป็นศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย (ThaiBDC) หลังจากเปลี่ยนสถานะเป็นสมาคม ThaiBMA ได้ปรับปรุงมาตรฐานการกำหนดสัญลักษณ์ตราสารหนี้ เพื่อให้รองรับตราสารหนี้ระยะสั้นที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดให้ต้องขึ้นทะเบียนกับ ThaiBMA โดยประกาศใช้ในปี 2549 และเพื่อรองรับปริมาณการออกตราสารหนี้ที่เพิ่มมากขึ้น ThaiBMA ได้ปรับปรุงสัญลักษณ์ตราสารหนี้อีกครั้ง ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2551 โดยสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปจากมาตรฐานที่ประกาศใช้ในปี 2549 นั้นประกอบด้วย
- การขยายชื่อย่อของบริษัทหรือองค์กรที่ออกตราสารหนี้จากที่กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 4 ตำแหน่งเป็นไม่เกิน 6 ตำแหน่ง และในกรณีที่ผู้ออกเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ก็ให้ใช้ชื่อย่อเดียวกันกับที่ใช้อ้างอิงในหุ้นสามัญ
- หลักเกณฑ์การกำหนดสัญลักษณ์ที่ปรับปรุงใหม่จะใช้เหมือนกันทั้งตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน ได้แก่ หลักเกณฑ์สำหรับตราสารหนี้ระยะยาว ระยะสั้น และตราสารหนี้ประเภทไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (Perpetual Bond) การเปลี่ยนแปลงข้างต้น ส่งผลให้สัญลักษณ์ตราสารหนี้มีความยาวสูงสุดเพิ่มขึ้นเป็น 12 ตัวอักษร จากเดิมที่ไม่เกิน 8 ตัวอักษร
ตัวอย่าง
ตราสารหนี้ระยะยาว
สัญลักษณ์ TRUE174A หมายถึง หุ้นกู้ระยะยาวของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนเมษายน ค.ศ. 2017 เป็นหุ้นกู้รุ่นแรกของบริษัทที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนและปีดังกล่าว
ตราสารหนี้ระยะสั้น
สัญลักษณ์ BEC17612A หมายถึง ตั๋วแลกเงินของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 2017 เป็นหุ้นกู้รุ่นแรกของบริษัทที่ครบกำหนดไถ่ถอนในวัน เดือนและปีดังกล่าว

• ขั้นตอนการซื้อขาย พันธบัตร / หุ้นกู้ 

• ลักษณะของตลาดตราสารหนี้ 

ตลาดรองตราสารหนี้ไทย
การซื้อขายเปลี่ยนมือตราสารหนี้ของไทยจะทำผ่านสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาติจาก กลต. ซึ่งได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ โดยไม่มีตลาดกลาง ต่างจากการซื้อขายหุ้นสามัญที่มักเกิดขึ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ ที่เป็นสถานที่กลางให้นักลงทุนได้ทำการซื้อขายเปลี่ยนมือกันโดยกำหนดเวลาเปิดปิดตลาดไว้
การซื้อขายตราสารหนี้ของไทยนอกจากจะทำผ่านสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่ได้รับอนุญาติแล้ว (Over the counter) นักลงทุนยังสามารถทำการต่อรองราคาและตกลงเงื่อนไขต่าง ๆ ระหว่างกันได้โดยจะทำการตกลงกันด้วยอัตราผลตอบแทนเมื่อถือจนครบกำหนดอายุ (Yield to Maturity: YTM)เช่น LB233AมีYTM2.323%และ LB236A มี YTM 2.365% เป็นต้น
ในปัจจุบัน มี Dealerที่ได้รับอนุญาติจากสำนักงาน กลต.เกือบ 60 รายนักลงทุนสามารถสอบถามราคาเสนอซื้อ เสนอขายจากdealer ที่ท่านใช้บริการได้ โดยYield เสนอซื้อ/เสนอขายจะต่างกันเล็กน้อยเรียกว่า Spread ซึ่งอยู่ในหน่วยbp (Basis Point, 1bp= 0.01%) ทั้งนี้spread จะขึ้นกับปริมาณการซื้อขายด้วย หากซื้อขายในปริมาณที่มาก spread จะลดลง นอกจากนั้น spread จะเป็นตัวสะท้อนสภาพคล่องของตราสารหนี้ตัวนั้นๆอีกด้วยหาก spread ต่ำแสดงว่าสภาพคล่องสูง ซื้อขายง่าย หากspread สูงแสดงว่าสภาพคล่องต่ำการซื้อขายจะทำได้ยาก
สำหรับการซื้อขายตราสารหนี้ของรัฐบาล ก่อนตัดสินใจซื้อขาย นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบผลตอบแทนได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลวันทำการก่อนหน้าโดยอ้างอิงอายุคงเหลือของตราสารที่ต้องการซื้อขายก่อนได้ ในกรณีของตราสารหนี้เอกชน สามารถใช้ Credit spread มาบวกเพิ่มจากYield พันธบัตรรัฐบาลเพื่อใช้ในการอ้างอิงได้แต่ทั้งนี้เนื่องจากตราสารหนี้เอกชนมีสภาพคล่องต่ำกว่าตราสารหนี้ภาครัฐ ราคาที่ซื้อขายอาจแตกต่างจากราคาอ้างอิงได้มาก
หลังจากการซื้อขาย Dealer ทุกรายจะรายงานข้อมูลซื้อขายมายังสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเพื่อรวบรวมและกำกับดูแลการซื้อขาย โดยทางสมาคมจะทำการเผยแพร่ข้อมูลที่สำคัญเช่น ปริมาณการซื้อขาย อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ ปริมาณเงินเข้าออกต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ เป็นต้น ทั้งนี้ราคาและผลตอบแทนที่ทางสมาคมฯ ประกาศ บริษัทจัดการกองทุน และธนาคารจะนำไปใช้ในการกำหนดมูลค่ายุติธรรมในการลงบัญชีในแต่ละวัน

• การลงทุนในตราสารหนี้ 

การลงทุนในตราสารหนี้นักลงทุนสามารถลงทุนได้ใน 3 ทางได้แก่ 1) ลงทุนในตลาดแรก (เป็นการซื้อตราสารหนี้ออกใหม่) 2) ลงทุนในตลาดรอง (ซื้อตราสารหนี้ต่อจากนักลงทุนอื่น) 3) ลงทุนทางอ้อม (ลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ต่างๆ)
1. การลงทุนในตลาดแรก
การลงทุนในตลาดแรกจะมีความแตกต่างกันระหว่างการลงทุนตราสารหนี้ภาครัฐและตราสารหนี้ภาคเอกชน ในเรื่องการจัดจำหน่ายและเงื่อนไขในการลงทุน ดังนี้
1.1 ตราสารหนี้ภาครัฐ
ตราสารหนี้ภาครัฐจะมีการจำหน่าย 2 วิธีคือ ผ่านการประมูล และการจำหน่ายผ่านผู้จัดการจำหน่าย นักลงทุนทั่วไปไม่ได้รับอนุญาติให้เข้าร่วมประมูลตราสารหนี้ภาครัฐบาล จะมีเฉพาะนักลงทุนสถาบันตามที่กำหนดเท่านั้นที่สามารถเข้าประมูลได้ ส่วนการจำหน่ายผ่านผู้จัดการจำหน่ายจะได้แก่ พันธบัตรออมทรัพย์ และพันธบัตรรัฐวิสหกิจบางแห่ง(รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่จะใช้ระบบประมูล)ที่มีความสามารถในการระดมทุนเช่น ธนาคารเพื่อการนำเข้าส่งออกแห่งประเทศไทย บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นต้น
พันธบัตรออมทรัพย์ปัจจุบันเป็นระบบไร้ใบหุ้นกู้ (Scripless) แต่จะมีสมุดพันธบัตรฯ (Bond Book)ในวันที่ซื้อหรืออาจได้รับภายหลังไม่เกิน 15 วันจากธนาคารตัวแทนจำหน่าย หากมีสมุดพันธบัตรฯอยู่แล้วสามารถปรับปรุงข้อมูลได้ใน 15 วัน หากนักลงทุนต้องการถอนพันธบัตรออกจากระบบScriplessก็สามารถทำได้โดยขอออกใบพันธบัตรแต่ทั้งนี้จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
1.2 ตราสารหนี้ภาคเอกชน
ตราสารหนี้ภาคเอกชนสามารถเสนอขายได้ 2กรณี
- การเสนอขายนักลงทุนทั่วไป(Public Offering) ซึ่งตราสารที่ขายในรูปแบบนี้ ก.ล.ต. กำหนดให้ผู้ออกต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และต้องขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยรวมถึงกฏเกณฑ์อื่นๆเพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลเพียงพอในการประเมินความเสี่ยง
- การเสนอขายในวงจำกัด (Private Placement) ในกรณีนี้จะแบ่งย่อยได้ 2 แบบ คือ การขายให้แก่นักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนรายใหญ่(Institutional Investor or High Net Worth Investor)และ เสนอขายแก่นักลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงไม่เกิน 10 ราย (PP10) การเสนอขายในวงจำกัดนี้ ไม่จำเป็นต้องจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้โดยนักลงทุนทั่วไปจะไม่สามารถลงทุนในตราสารหนี้ตัวนั้นๆได้
2. การลงทุนในตลาดรอง
การซื้อขายในตลาดรองของตราสารหนี้จะเป็นแบบ OTC (Over The Counter) ซึ่งไม่มีศูนย์กลางการซื้อขายและสามารถต่อรองราคาได้ นักลงทุนสามารถซื้อขายตราสารหนี้ที่ต้องการได้หลังจากที่ได้มีการเสนอขายในตลาดแรกแล้ว เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย โดยนักลงทุนอาจซื้อขายในราคาที่ต่างจากราคาหน้าตั๋ว ทั้งนี้เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดอาจเปลี่ยนแปลงไปจากวันที่ออกตราสาร รวมถึงตราสารหนี้บางตัวมีสภาพคล่องต่ำทำให้ราคารับซื้อกับราคาเสนอขายจะต่างกันมาก
โดยทั่วไปแล้วตราสารหนี้ภาครัฐมักมีสภาพคล่องที่สูงกว่าตราสารหนี้ภาคเอกชน และตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ได้รับอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า Investment grade หรือไม่มีการจัดRating จะมีสภาพคล่องต่ำ นักลงทุนจึงควรพิจารณาความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง หรือความเสี่ยงที่ไม่สามารถขายตราสารในเวลาที่ต้องการหรือขายได้ราคาที่ต่ำ ก่อนการลงทุนเสมอ
3. การลงทุนผ่านกองทุนรวม
กองทุนรวมถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนรายย่อยเนื่องจากสามารถกระจายความเสี่ยงได้มากกว่าแม้ว่าจะลงทุนด้วยเงินจำนวนไม่มาก และสามารถเลือกเงื่อนไขในการขายคืนหรือจะถือจนครบกำหนดอายุได้ ทำให้สะดวกต่อการบริหารเงิน หากลงทุนในกองทุนเปิดจะได้รับความสะดวกในเรื่องสภาพคล่อง
ในปัจจุบันมีกองทุนหลายประเภทที่ลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งความเสี่ยงของแต่ละกองจะขึ้นกับประเภทของตราสารที่ลงทุน ทั้งนี้นักลงทุนควรทำความเข้าใจความเสี่ยงด้านต่างๆและโอกาสขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นได้ก่อนเลือกลงทุน เช่นการลงทุนในกองทุนพันธบัตรรัฐบาลจะไม่ขาดทุนจากการผิดนัดชำระแน่นอน แต่อาจขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ หรือการลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิต จะได้รับผลตอบแทนสูงกว่าแต่ก็มีโอกาสที่จะขาดทุนจากการผิดนัดชำระสูงกว่ากองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนในระดับInvestment Grade เป็นต้น

• ภาษีกับการลงทุนตราสารหนี้  

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการลงทุนในตราสารหนี้กับหุ้นสามัญสำหรับบุคคลธรรมดา คือ การเก็บภาษีจากกำไรส่วนต่างราคา ซึ่งจะถูกเก็บจากการลงทุนในตราสารหนี้ในขณะที่การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จะไม่เสียภาษีกำไรจากส่วนต่างราคา ดังนั้นก่อนลงทุนนักลงทุนควรศึกษารายละเอียดการคำนวนภาษีก่อนการลงทุน
1. อัตราภาษีของบุคคลธรรมดาจากการลงทุนในตราสารหนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549)
2. อัตราภาษีของนิติบุคคลจากการลงทุนในตราสารหนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549)
หมายเหตุ กรณีนักลงทุนต่างประเทศ (ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) ที่ได้รับยกเว้นภาษีจากเงินได้ที่ได้รับจากพันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่ออกโดยรัฐบาล องค์การของรัฐบาล หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรมข้างต้นนั้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามนโยบายของภาครัฐและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีได้ที่ www.rd.go.th

• ความเสี่ยงด้านเครดิต หรือ ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Credit Risk หรือ Default Risk) 

การลงทุนในตราสารหนี้นั้นผู้ลงทุนจะมีสถานเป็นเจ้าหนี้ของผู้ออกตราสารและเหมือนเจ้าหนี้โดยทั่วไปความเสี่ยงที่ลูกหนี้จะไม่ชำระเงินคืนตามกำหนดเวลาที่สัญญาไว้ เป็นความเสี่ยงอันดับแรกที่เจ้าหนี้ให้ความสนใจเรียกว่าความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้
ในกรณีที่ผู้ออกเป็นรัฐบาลและออกตราสารหนี้เป็นสกุลเงินของประเทศเช่น รัฐบาลไทยออกพันธบัตรในสกุลเงินบาท หรือรัฐบาลสหรัฐออกพันธบัตรเป็นสกุลเงินดอลล่าร์ จะถือว่าพันธบัตรรัฐบาลนั้นไม่มีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระเนื่องจากถือว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศมีอำนาจสูงสุด สามารถเก็บภาษีเพื่อมาชำระหนี้ได้ซึ่งหน่วยงานภาคธุรกิจไม่สามารถทำได้ ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน จึงมีโอกาสที่จะผิดนัดชำระได้ ทั้งนี้ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระ หรืออีกด้านหนึ่งคือความสามารถในการชำระหนี้ของแต่ละบริษัทอาจไม่เท่ากัน ขึ้นกับหลายๆ ปัจจัย เช่น ความสามารถในการทำกำไร ลักษณะสินค้า และโครงสร้างทางการเงิน ซึ่งนักลงทุนสามารถดูได้จากอันดับเครดิต (Credit rating) ที่บริษัทจัดอันดับ (Credit rating agency) เป็นผู้ประเมินให้แก่แต่ละบริษัทโดยพิจารณาจากปัจจัยด้านต่าง ๆในปัจจุบัน สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดให้ตราสารหนี้ภาคเอกชนที่จะออกขายแก่บุคคลทั่วไปต้องได้รับการจัดอันดับเครดิต
โดยทั่วไป จะแบ่งอันดับเครดิตออกเป็น 2 ระดับ คือ
1. ระดับที่ยอมรับว่าเหมาะสมแก่การลงทุน(Investment Grade)ซึ่งหมายถึงตราสารหนี้ที่มีRating ตั้งแต่ BBB-ขึ้นไป
2. ระดับที่พิจารณาว่ามีความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์สูงหรืออาจเรียกว่าตราสารหนี้ที่มีผลตอบแทนสูง(High yield) ซึ่งหมายถึงตราสารหนี้ที่มี Rating ต่ำว่า BBB- หรือไม่ได้รับการจัดอันดับซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูงแต่ก็มักจะให้ผลตอบแทนสูงเช่นกัน
ตราสารหนี้ที่ผู้ออกไม่สามารถจ่ายชำระคืนดอกเบี้ยและเงินต้นภายในกำหนดได้ จะอยู่ในสถานะ "Default Bond” ดังนั้น ผู้ถือตราสารหนี้ต้องฟ้องร้องเพื่อเรียกชำระคืนหนี้ หรือในกรณีที่มีการปรับปรุงโครงสร้างทางการเงินเพื่อฟื้นฟูกิจการของบริษัทผู้ออกตราสาร ผู้ถือตราสารหนี้ก็จะต้องร่วมพิจารณาแผนดังกล่าวเพื่อให้เกิดการฟื้นฟูกิจการ มีโอกาสในการชำระหนี้คืนในอนาคต

• ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk or Market Risk or Price Risk) 

สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้โดยทั่วไปแล้ว ผู้ออกจะระบุเงื่อนไขการชำระคูปองและการไถ่ถอนอย่างชัดเจนดังนั้นสำหรับนักลงทุนซึ่งลงทุนและถือตราสารหนี้จนครบอายุจะไม่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย แต่สำหรับนักลงทุนที่ต้องการขายตราสารหนี้ก่อนครบกำหนดอายุ อัตราดอกเบี้ยในตลาดจะมีผลต่อราคาตราสารหนี้ดังนี้
เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลงราคาตราสารหนี้จะเพิ่มขึ้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ราคาตราสารหนี้จะลดลง ความสัมพันธ์สวนทางกันตามรูปด้านล่าง
ทั้งนี้เนื่องจากเมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มขึ้น ตราสารหนี้ที่ออกใหม่ในขณะนั้นจะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นตามตลาด โดยออกขายที่ราคาหน้าตั๋ว เมื่อเปรียบเทียบกับตราสารหนี้ที่ออกมาก่อนหน้าซึ่งจ่ายอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่านักลงทุนจะไม่ยินดีซื้อลงทุนที่ราคาหน้าตั๋วเนื่องจากเห็นว่าผลตอบแทนของตราสารหนี้ออกใหม่สูงกว่า ดังนั้นผู้ขายจึงต้องลดราคาลงเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนให้เทียบเท่ากับตราสารหนี้ออกใหม่
ในทางกลับกันหากอัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลง ตราสารหนี้ออกใหม่ในขณะนั้นจะจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงตามตลาดโดยออกขายที่ราคาหน้าตั๋วเมื่อเปรียบเทียบกับตราสารหนี้ที่ออกมาก่อนหน้าซึ่งจ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงกว่านักลงทุนจะยินดีซื้อลงทุนที่ราคาสูงกว่าราคาหน้าตั๋วเนื่องจากให้ผลตอบแทนดีกว่าตราสารหนี้ออกใหม่
ดังนั้นเมื่อดูราคาตราสารหนี้ในตลาดรองจะพบราคาที่แตกต่างกัน สูงกว่าราคาหน้าตั๋วบ้าง ต่ำกว่าบ้างทั้งนี้ขึ้นกับอัตราดอกเบี้ย ณ เวลาที่ออกตราสารหนี้นั้นๆเทียบกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดในขณะนั้นนั่นเอง

• ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในการลงทุนต่อ (Reinvestment Risk) 

เนื่องจากตราสารหนี้ส่วนใหญ่มักจะมีการจ่ายดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอในช่วงระหว่างทางก่อนที่จะครบกำหนดชำระดอกเบี้ยที่นักลงทุนได้รับหากนำไปลงทุนต่อ อาจได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่ไม่เท่าเดิม ขึ้นกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดในช่วงเวลานั้นๆ ความเสี่ยงประเภทนี้เกิดจากการที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มลดลง ทำให้นักลงทุนได้รับอัตราผลตอบแทนที่ต่ำลงจากการนำดอกเบี้ยนั้นไปลงทุนต่อ หรือในทางกลับกันหากอัตราดอกเบี้ยของการลงทุนต่อสูงขึ้นจะทำให้อัตราผลตอบแทนของการลงทุนต่อดีขึ้น
ดังนั้นอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของการนำไปลงทุนต่อเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการลงทุนจะแตกต่างไปจากอัตราผลตอบแทนที่เคยคาดไว้ ซึ่งก็คือมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนต่อ (Reinvestment Risk)
ความเสี่ยงชนิดนี้จะมีมากขึ้นกับตราสารนี้ที่มีอายุน้อย เนื่องจากจะมีจำนวนครั้งที่ต้องลงทุนใหม่บ่อยกว่าตราสารหนี้ที่มีอายุยาวเช่น หากเราต้องการลงทุน 10 ปี และลงทุนในตราสารอายุคงเหลือ 1 ปี เราจะต้องลงทุน 10 ครั้งและรับความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ยทุกครั้ง ในขณะที่หากเราลงทุนในตราสารหนี้อายุ 10 ปี เราจะไม่มีความเสี่ยงที่จะต้องนำเงินต้นไปลงทุนซ้ำ แต่อย่างไรก็ตาม คูปองที่ได้รับในช่วงอายุตราสารยังได้รับความเสี่ยงในการลงทุนต่ออยู่

• ความเสี่ยงจากผลกระทบของเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด (Event Risk) 

ความเสี่ยงนี้เกิดจากเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้เช่น การควบรวมบริษัท มีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่มีผลต่อการดำเนินงาน เป็นต้น ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่เกิดได้น้อย แต่สามารถส่งผลกระทบต่อบริษัทได้อย่างมากนักลงทุนอาจลดความเสี่ยงนี้ลงได้โดยการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนเพื่อลดผลกระทบหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกับผู้ออกตราสารรายใดรายหนึ่ง

• ความเสี่ยงจากตราสารหนี้ขาดสภาพคล่องในการซื้อขาย (Liquidity Risk) 

ตราสารหนี้บางรุ่นอาจมีการซื้อขายไม่ถี่นัก ทำให้นักลงทุนที่ต้องการขายตราสารหนี้ออกอย่างรวดเร็วไม่สามารถทำได้ หรืออาจขายได้ในราคาที่ต่ำลงมาก ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพคล่องของตราสารหนี้ตัวนั้นๆ มูลค่าที่ต้องการขายและสภาวะตลาดในขณะนั้น
แต่สำหรับตราสารหนี้ภาครัฐมักจะมีสภาพคล่องที่สูงกว่าตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งดูได้จากอัตราการเปลี่ยนมือของการซื้อขาย (Turnover Ratio) และสามารถดูได้จากอัตราเสนอซื้อและอัตราเสนอขาย โดยหลักการแล้วส่วนต่างระหว่างอัตราเสนอซื้อและเสนอขายสามารถบอกถึงสภาพคล่องของตราสารนั้นๆได้ แต่หากเป็นตราสารหนี้เอกชน ข้อมูลเหล่านี้บางครั้งจะไม่สามารถหาได้เนื่องจากมีการเปลี่ยนมือกันน้อย หากนักลงทุนต้องการขายต้องสอบถามราคาจาก dealer โดยตรง อย่างไรก็ตามนักลงทุนอาจใช้ราคาของตราสารหนี้ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันเพื่อเปรียบเทียบได้

• การประเมินราคาตราสารหนี้ 

ราคาของตราสารหนี้สามารถประเมินได้จากมูลค่าของกระแสเงินที่จะได้รับในอนาคต (Future value) เนื่องจากรายได้หรือกระแสเงินดังกล่าวเกิดขึ้นในอนาคต การคำนวณจึงต้องใช้วิธีการหามูลค่าของเงินปัจจุบัน (Present value) ของกระแสเงินดังกล่าว ดังนั้นเราต้องทำความเข้าใจกับหลักการของการหามูลค่าปัจจุบันก่อน

• มูลค่าปัจจุบัน (Present value) 

มูลค่าปัจจุบัน คือ การหามูลค่าของเงินโดยอาศัยหลักการมูลค่าของเงินตามเวลา (Time value of money) คือ เงินที่ได้รับในวันนี้ย่อมมีค่ามากกว่าเงินจำนวนเท่ากันที่จะได้รับในอนาคต
สมมติเรามีเงิน 100 บาทในวันนี้ และนำไปฝากประจำกับธนาคารได้อัตราดอกเบี้ย 4% เป็นเวลา 2 ปี เมื่อครบกำหนดเราจะได้รับเงินคืนทั้งหมดเท่ากับ 108.16 บาท (100 * 1.04 * 1.04 = 108.16) ในขณะเดียวกัน หากท่านคาดว่าจะได้รับเงิน 100 บาท ในอนาคตอีก 2 ปีข้างหน้า หมายความว่า ท่านจะต้องลงทุนเป็นจำนวนเงิน 92.45 บาทในวันนี้ (92.45 * 1.04 * 1.04 = 100) ดังนั้นมูลค่าปัจจุบันในวันนี้ของเงิน 100 บาทในอีก 2 ปีข้างหน้า คือ 92.45 บาท นั่นแสดงว่าเงิน 100 บาทในวันนี้มีค่ามากกว่าเงิน 100 บาทในอนาคต

• การคำนวณราคาตราสารหนี้ 

การคำนวณราคาตราสารหนี้ก็ใช้หลักการเช่นเดียวกับการฝากเงินข้างต้น หากเรามองว่าดอกเบี้ยรับจากตราสารหนี้มีรอบการจ่ายเป็นงวดๆเช่นเดียวกัน ในขณะที่เงินหน้าตั๋วในวันหมดอายุตราสารเปรียบเสมือนเงินต้นที่จะได้รับจากการฝากเงินในธนาคารเมื่อครบกำหนด ซึ่งสามารถหามูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินที่ได้รับจากดอกเบี้ยแต่ละงวดและเงินตามหน้าตั๋วเมื่อครบกำหนด แล้วนำมารวมกันก็จะได้มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินทั้งหมดที่จะได้รับจากตราสารหนี้ในอนาคตซึ่งก็คือราคาของตราสารหนี้นั่นเอง
หากเรานำเงิน 1,000 บาทไปลงทุนในพันธบัตรรุ่นหนึ่ง จำนวน 1,000 บาท ซึ่งจ่ายอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon) ร้อยละ 5 เป็นเวลา 3 ปี จะเห็นว่ารายได้หรือกระแสเงินที่จะได้รับในอนาคตจะประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ
1) ดอกเบี้ย: รายได้ดอกเบี้ยที่ได้รับเป็นรายงวดจากเงินลงทุนในตราสารหนี้ทุกๆงวดตามที่กำหนด
2) ดอกเบี้ยของดอกเบี้ย: รายได้ดอกเบี้ยที่เกิดจากการนำดอกเบี้ยของแต่ละงวดไปลงทุนต่อ
3) เงินต้นของการลงทุน: เงินลงทุนตามมูลค่าหน้าตั๋วซึ่งจะได้รับคืนเมื่อครบกำหนด

• วิธีวัดผลตอบแทนจากการลงทุน 

หลักการคำนวณราคาตราสารหนี้ที่อธิบายมาแล้วนั้นเป็นการคำนวณราคาจากกระแสเงินรับของดอกเบี้ยและเงินต้น ไถ่ถอนที่จะได้รับในอนาคต โดยในตัวอย่างที่ผ่านมา เราสมมติให้ใช้อัตราดอกเบี้ยของธนาคารเป็นอัตราคิดลดเพื่อหามูลค่าปัจจุบันของเงินที่จะได้รับในอนาคต ซึ่งหมายความว่าหากผู้ลงทุนซื้อตราสารหนี้ในราคาตามที่คำนวณได้ กระแสเงินที่ผู้ลงทุนจะได้รับในอนาคตจะให้ผลตอบแทนเท่ากับอัตราคิดลดหรืออัตราดอกเบี้ยธนาคาร โดยจะสังเกตเห็นว่าหากอัตราคิดลดที่ใช้คำนวณมีค่าเพิ่มขึ้น ราคาหรือมูลค่าปัจจุบันของตราสารหนี้จะลดลง หรือ หมายความว่าเงินที่ใช้ในการลงทุนหรือราคาที่จะซื้อตราสารหนี้ก็จะน้อยลง ดังนั้นอัตราคิดลดดังกล่าวจึงเป็นตัวบอกผลตอบแทน (Yield) ที่จะได้รับจากการซื้อตราสารหนี้นั่นเอง

• อัตราผลตอบแทนถึงวันครบกำหนดอายุ หรือวันครบกำหนดไถ่ถอน (Yield to Maturity / YTM)  

อัตราผลตอบแทนที่ใช้คำนวณมูลค่าของตราสารหนี้ตามวิธีการหามูลค่าปัจจุบันของตราสารหนี้ เป็นอัตราที่ใช้กันโดยทั่วไปในตลาดในการเสนอราคาซื้อขายตราสาร อัตราผลตอบแทนนี้แสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนทั้งหมดที่จะได้รับเมื่อถือตราสารหนี้ดังกล่าวไปจนครบกำหนดอายุไถ่ถอน หรือจนถึงวันใช้สิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดในกรณีของตราสารที่มี call หรือ put option
YTM ที่คำนวณได้นี้สามารถนำไปเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุนอื่นๆ เช่น เปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร หรือเปรียบเทียบระหว่างตราสารหนี้ชนิดต่างๆ ที่ระยะเวลาเดียวกับอายุของตราสารหนี้ตัวนั้นๆ เพื่อใช้พิจารณาในการตัดสินใจลงทุน
YTM เป็นที่นิยมในการวัดอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้แต่มีข้อจำกัด คือ การลงทุนที่เกิดขึ้นจริง อาจไม่เป็นไปตามข้อสมมุติฐานของการคำนวณ YTM กล่าวคือ ในกรณีที่นักลงทุนไม่ได้ถือตราสารหนี้นั้นไปจนถึงวันครบกำหนดอายุ หรือนำดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุนไปลงทุนต่อแล้วไม่ได้รับอัตราผลตอบแทนเท่า จะทำให้การคำนวณหา YTM อาจไม่เท่ากับอัตราผลตอบแทนจริงที่ผู้ลงทุนจะได้รับ

• อัตราผลตอบแทนปัจจุบัน (Current Yield) 

นอกจากการใช้ YTM ในการวัดอัตราผลตอบแทนแล้ว ยังมีการวัดอัตราผลตอบแทนปัจจุบัน (Current Yield) ซึ่งเป็นการคำนวณอัตราผลตอบแทนอย่างง่ายโดยนำดอกเบี้ย (Coupon) ที่จะได้รับจากตราสารหนี้นั้นหารด้วยราคาของตราสารหนี้ ซึ่งมีสมการ ดังนี้
จะเห็นว่าอัตราผลตอบแทนปัจจุบันจะไม่คำนึงถึงค่าของเงินตามเวลา หรือมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินที่ได้รับในอนาคต รวมไปถึงผลตอบแทนที่ได้จากการเพิ่มหรือลดลงของราคา (Capital Gain or Loss) แต่จะสนใจเฉพาะผลตอบแทนที่ได้จากดอกเบี้ยที่จะได้รับในปีนี้กับราคาตราสารหนี้ ณ ปัจจุบันเท่านั้น

• ความผันผวนของราคา : ความสัมพันธ์ระหว่างราคาและอัตราผลตอบแทน 

นับจากวันแรกที่ตราสารหนี้ออกขายในตลาดจนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอน ราคาของตราสารหนี้ในตลาดรองอาจเคลื่อนไหวตามการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมต่างๆในตลาดรวมถึงระดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความผันผวนของราคาตราสารหนี้ ประกอบไปด้วย
• อัตราดอกเบี้ยในตลาด หรือ อัตราผลตอบแทนที่ต้องการ
ราคาตราสารหนี้และอัตราผลตอบแทนมีความสัมพันธ์แบบแปรผกผันกัน หมายความว่า เมื่ออัตราผลตอบแทนลดลง ราคาตราสารหนี้จะสูงขึ้น และในทางกลับกันเมื่ออัตราผลตอบแทนสูงขึ้นราคาก็จะลดลง
ดังนั้น ในการบริหารการลงทุน ถ้าท่านคาดว่าทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในตลาดจะสูงขึ้น ซึ่งทำให้ราคาตราสารหนี้ลดลง ท่านก็ควรจะขายตราสารหนี้ที่ราคาจะลดลงมากๆ ออกไปก่อน
• อายุคงเหลือของตราสารหนี้
การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยมีผลกระทบต่อความผันผวนของราคาตราสารหนี้ไม่เท่ากัน โดยตราสารหนี้ที่มีอายุยาวกว่าจะยิ่งมีความผันผวนของราคามากกว่า ดังนั้น ตราสารหนี้ระยะยาวมักมีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าระยะสั้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการชดเชยความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงของราคานั่นเอง ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนกับอายุของตราสารหนี้นั้น สามารถอธิบายโดยการวาดเส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้กับอายุคงเหลือในระดับต่างๆจากน้อยที่สุดไปมากที่สุด ซึ่งเส้นดังกล่าวนี้เรียกว่า เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve)
ดังนั้น นักลงทุนสามารถนำคุณสมบัติข้อนี้ไปใช้วางกลยุทธ์การลงทุนได้ กล่าวคือ หากคาดว่าอัตราผลตอบแทนจะลดลง ควรเลือกลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอายุยาวเพื่อได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของราคาในอัตราที่สูงกว่า
ในทางคณิตศาสตร์นั้น สามารถวัดค่าความผันผวนของราคาต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนได้จาก อายุถัวเฉลี่ยคงเหลือของตราสารหนี้ถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสด (ค่า Duration) ตราสารหนี้ที่มีค่า Duration สูงก็จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยมากกว่า คือ ทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงไปได้มากกว่า เช่น กรณีที่ดอกเบี้ยปรับขึ้น ส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ลดลง ตราสารที่มี Duration สูงจะปรับลดลงมากกว่าตราสารที่มี Duration ต่ำกว่า
• ดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon)
หากดูจากกราฟความสัมพันธ์ของราคาและอัตราผลตอบแทน จะเห็นว่ากราฟมีลักษณะเป็นเส้นโค้ง (Convex) โดยความชันของเส้นมีความแตกต่างกัน ณ อัตราตอบแทน (Yield) ที่แตกต่างกัน โดยที่ Yield ต่ำเส้นความสัมพันธ์จะชันกว่าที่ที่ Yield สูงกว่า ซึ่งหมายความว่าราคาจะผันผวนมากกว่า
ดังนั้น หากสมมติว่าท่านลงทุนในหุ้นกู้ A ซึ่งจ่ายดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon rate) 3% และหุ้นกู้ B ซึ่งจ่ายดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon rate) 5% โดยที่คุณสมบัติอย่างอื่นเหมือนกัน สมมติว่าอัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้น หุ้นกู้ A จะมีราคาลดลงมากกว่าหุ้นกู้ B และหากอัตราผลตอบแทน ในตลาดปรับลดลง หุ้นกู้ A ก็จะมีราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าหุ้นกู้ B
ดังนั้น หากคาดว่าอัตราผลตอบแทนอยู่ในขาลง การจะตัดสินใจซื้อตราสารหนี้ที่มีอายุเท่ากัน ควรจะซื้อตราสารที่มีอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon) ต่ำกว่า จะทำให้ได้ capital gain หรือได้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของราคามากกว่า เพราะตราสารหนี้ที่มี Coupon ต่ำจะมีความผันผวนของราคามากกว่าตราสารที่จ่ายดอกเบี้ย Coupon สูงๆ
• ปัจจัยอื่นๆ
ปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อราคาตราสารหนี้ ได้แก่ อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating) ของตราสารรุ่นนั้นๆ หรือของผู้ออกตราสารหนี้ เช่น หากตราสารหนี้หรือผู้ออกหุ้นกู้ถูกปรับลดอันดับเครดิต (Downgrade) จะส่งผลให้นักลงทุนเรียกร้องอัตราผลตอบแทนในการลงทุนในหุ้นกู้นั้นๆสูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยง และก็จะส่งผลให้ราคาของตราสารหนี้นั้นลดลง นอกจากนั้น ปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่น เช่น อัตราเงินเฟ้อ ก็ส่งผลถึงการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของตลาด และจะมีผลต่อเนื่องมาถึงราคาของตราสารหนี้เช่นเดียวกัน