• อัตราผลตอบแทน (Yield Curve)
การวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลงทุนในตราสารหนี้ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนและราคาของตราสารหนี้นั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ เมื่ออัตราผลตอบแทน (Yield) ในตลาดมีการเปลี่ยนแปลงก็จะส่งผลให้เกิดความผันผวนของราคา ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจและการวางกลยุทธ์ในการลงทุน ในขณะที่ผู้ออกตราสารหนี้ก็สามารถใช้ประโยชน์จากเส้นอัตราผลตอบแทน ในการพิจารณาต้นทุนการออกตราสารหนี้ของตนเปรียบเทียบกับเส้นอัตราผลตอบแทน
• เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) คืออะไร
เส้นอัตราผลตอบแทน คือ เส้นที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนกับอายุคงเหลือ (Time to maturity) ของตราสารหนี้ แต่ละจุดบน Yield curve จะบอกให้เราทราบว่า อัตราผลตอบแทนที่ตลาดต้องการสำหรับตราสารหนี้แต่ละช่วงอายุเป็นเท่าไร โดยปกติเราจะใช้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล ณ ช่วงอายุต่างๆ มาสร้าง เส้นอัตราผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ (Risk-free yield curve) ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนพื้นฐานที่สามารถนำไปใช้คำนวณอัตราผลตอบแทนสำหรับตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่างๆได้
เส้นอัตราผลตอบแทนที่ ThaiBMA จัดทำและเผยแพร่ คือ ThaiBMA Government bond yield curve โดยเผยแพร่ในเวลาประมาณ 16.00 น. ของทุกวันทำการ และถือเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ตลาดตราสารหนี้นำไปใช้อ้างอิงและใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานต่างๆ เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรและหุ้นกู้เพื่อจำหน่ายในตลาดแรก การใช้เป็นเครื่องมือการคำนวณเพื่อหามูลค่ายุติธรรมในการบันทึกบัญชี รวมทั้งเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจดำเนินนโยบายและกลยุทธ์การลงทุน
• รูปร่างของเส้นอัตราผลตอบแทน
ปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ภาวะเงินเฟ้อ นโยบายทางการเงินของรัฐบาล สภาพคล่องในระบบการเงิน มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของเส้น Yield curve และจะทำให้ Yield curve มีรูปร่างที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา โดยรูปร่างของ Yield curve สามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบดังนี้
1. แบบปกติ (Normal yield curve or Upward sloping yield curve) มีลักษณะเป็นเส้นลาดชันขึ้นจากซ้ายไปขวา คือ Yield ของพันธบัตรที่มีอายุคงเหลือสั้นจะต่ำกว่า Yield ของพันธบัตรที่มีอายุคงเหลือยาว แสดงให้เห็นว่า ผู้ลงทุนต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นเมื่อลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุยาวขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เราจึงเรียกว่าเส้นอัตราผลตอบแทนแบบนี้ว่า แบบปกติ
2. แบบลาดลง (Inverted yield curve or Downward sloping yield curve) มีลักษณะตรงข้ามกับแบบปกติ คือ เป็นเส้นกราฟลาดลงจากซ้ายไปขวา พันธบัตรที่มีอายุคงเหลือยาวจะมีอัตราผลตอบแทนต่ำกว่าพันธบัตรที่มีอายุสั้น ซึ่ง Yield curve ลักษณะนี้จะพบเมื่อตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มลดลง
3. แบบหลังเขา (Humped yield curve) เส้นจะลาดชันขึ้นจากซ้ายไปขวาและวกต่ำลงเมื่ออายุคงเหลือของตราสารหนี้เพิ่มขึ้น
4. แบบแบนราบ (Flatted yield curve) เป็นลักษณะของอัตราผลตอบแทนที่เท่ากันทุกช่วงอายุของตราสารหนี้
เครื่องมือที่ผู้ลงทุนใช้ติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดโดยรวม หรือของกลุ่มตราสารหนี้ที่สอดคล้องกับการลงทุน เช่น ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล, ดัชนีหุ้นกู้ที่อยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment grade) ดัชนีตราสารหนี้สามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภทขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะวัด
• ประโยชน์ของดัชนีตราสารหนี้
ดัชนีตราสารหนี้เป็นเครื่องมือเพื่อให้ผู้บริหารกองทุนใช้เป็นมาตรฐานในการเปรียบเทียบ และวัดความสามารถในผลการดำเนินงานของตนเทียบกับผลตอบแทนของตลาดโดยรวม ในขณะเดียวกันนักลงทุนรายย่อยสามารถใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงานของแต่ละกองทุน เพื่อประโยชน์ในการเป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนและสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป ดัชนีเป็นเครื่องมือที่ช่วยติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดและยังใช้ในการวางกลยุทธ์ในการบริหารการลงทุนที่เหมาะสมได้ด้วย
• ประเภทของดัชนีตราสารหนี้
ดัชนีตราสารหนี้มีหลายประเภทขึ้นอยู่กับลักษณะและวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้ โดยดัชนีที่ ThaiBMA จัดทำขึ้นแบ่งได้เป็นประเภทหลักๆ ดังนี้
1. แบ่งตามประเภทตราสารหนี้
การแบ่งด้วยวิธีการนี้เป็นการแบ่งตามความต้องการใช้งานตามประเภทของตราสารหนี้ เช่น ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Government bond index), ดัชนีพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (SOE bond index), ดัชนีหุ้นกู้ระดับน่าลงทุน (Investment grade corporate bond index) เป็นต้น
2. แบ่งตามวิธีคำนวณ
- Clean price bond index เป็นดัชนีที่คำนวณจากราคาตราสารหนี้ที่ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของค่าดัชนีประเภทนี้จะมาจากการเปลี่ยนแปลงของราคาและอายุคงเหลือของตราสารหนี้เท่านั้น
- Gross price bond index เป็นดัชนีที่คำนวณจากราคาตราสารหนี้ที่รวมดอกเบี้ยค้างรับ ซึ่งจะสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบ 3 ส่วน คือ ราคา, อายุคงเหลือและดอกเบี้ยค้างรับ
- Total return bond index เป็นดัชนีที่นอกจากจะรวมเอสดอกเบี้ยค้างรับในการคำนวณแล้ว ยังได้รวมเอาดอกเบี้ยจากการลงทุน (Coupon interest) มารวมเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณด้วย ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงผลตอบแทนโดยรวมของการลงทุนในตราสารหนี้
• ดัชนีตราสารหนี้ที่จัดทำและเผยแพร่โดย ThaiBMA
ThaiBMA จัดทำ ดัชนีตราสารหนี้โดยแยกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล และดัชนีหุ้นกู้เอกชน
o ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (ThaiBMA Government Bond indices)
ดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของพันธบัตรรัฐบาลประเภท Loan Bond (หรือที่ขึ้นต้นตามสัญลักษณ์ ThaiBMA ด้วยอักษร LB) โดยจะประกอบด้วยข้อมูลย่อย เช่น Average yield, Average duration และ Average convexity ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของ yield, duration และ convexity ของกลุ่มพันธบัตรที่ใช้ในการคำนวณดัชนี ถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าคงค้างของพันธบัตรรัฐบาลแต่ละรุ่น
นอกจากกลุ่มดัชนีพันธบัตรรัฐบาลรวมที่ประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาลทุกรุ่นแล้ว ThaiBMA ยังได้จัดทำดัชนีพันธบัตรรัฐบาลแยกเป็นกลุ่มย่อยๆ อีก 5 กลุ่มโดยแบ่งตามอายุคงเหลือ ได้แก่
1) กลุ่มอายุคงเหลือระหว่าง 1 ถึง 3 ปี
2) กลุ่มอายุคงเหลือระหว่าง 3 ถึง 7 ปี
3) กลุ่มอายุคงเหลือระหว่าง 7 ถึง 10 ปี
4) กลุ่มอายุคงเหลือมากกว่า 10 ปี
5) กลุ่มอายุคงเหลือน้อยกว่า 10 ปี
ทั้งนี้การลงทุนในตราสารหนี้ส่วนใหญ่ มักจะมีการแบ่งการลงทุนตามช่วงอายุต่างๆ ของตราสารหนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทน และผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของตราสารหนี้ที่มีอายุสั้นและยาวจะไม่เท่ากัน การจัดทำดัชนีตราสารหนี้แยกเป็นกลุ่มย่อยๆ จะช่วยให้มีเครื่องมือวัดความเคลื่อนไหวที่ละเอียดขึ้นตลอดจนใช้เปรียบเทียบกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกันได้
o ดัชนีหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับน่าลงทุน (Investment Grade Corporate Bond index)
แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อยด้วยกัน คือ หุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB ขึ้นไป และ BBB+ ขึ้นไป โดยหุ้นกู้ดังกล่าวจะเป็นแบบจ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่ การจัดทำดัชนีหุ้นกู้แยกต่างหากจากดัชนีพันธบัตรรัฐบาลก็เพื่อให้สามารถวัดความเคลื่อนไหวของการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนซึ่งเป็นเครื่องมือวัดผลการดำเนินงานของพอร์ทการลงทุนหรือของกองทุนต่างๆได้อย่างละเอียดยิ่งขึ้น เนื่องจากการเคลื่อนไหวของราคาของหุ้นกู้มีลักษณะเฉพาะและอาจแตกต่างจากความเคลื่อนไหวของพันธบัตรรัฐบาล ThaiBMA ได้เริ่มจัดทำดัชนีหุ้นกู้ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นมา
o ดัชนีหุ้นกู้ที่คิดคำนวณจากข้อมูล Mark-to-Market (MTM Corporate Bond indices)
ดัชนีหุ้นกู้ที่คิดคำนวณจากข้อมูล Mark-to-Market ดัชนีนี้จะมีความละเอียดมากกว่า Investment Grade Corporate Bond Index โดยจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มย่อย คือ ตามอันดับเครดิตตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป, ตั้งแต่ BBB ขึ้นไป, ตั้งแต่ BBB+ ขึ้นไป และตั้งแต่ A- ขึ้นไป นอกจากนี้ ยังคำนวณแยกตามช่วงอายุคงเหลือในแต่ละอันดับเครดิต เหมือนกับดัชนีหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับน่าลงทุน และยังเพิ่มช่วงอายุคงเหลืออีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มของหุ้นกู้ที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 10 ปี ซึ่งกลุ่มนี้จะครอบคลุมหุ้นกู้ทั้งหมด รวมถึงหุ้นกู้ที่มีอายุไม่ถึง 1 ปีอีกด้วย ได้เริ่มจัดทำดัชนีหุ้นกู้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2549 เป็นต้นมา
MTM Corporate bond index จะต่างจาก Investment Grade Corporate bond Index โดยหลักคือจะใช้ราคา Mark-to-Market ณ สิ้นวันมาใช้ในการคำนวณดัชนีและจะไม่ได้คำนึงถึงสภาพคล่องของตราสารแต่ละตัว แต่จะใช้ตราสารทั้งหมด (Fixed coupon with no option embedded) ที่มีอันดับเครดิตมาใช้ในการคำนวณดัชนี อาจกล่าวได้ว่า Mark-to-Market Corporate Bond Index จะมีการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับราคาตลาดของหุ้นกู้มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ Investment Grade Corporate Bond Index เพราะมีการนำราคา Mark-to-Market ณ สิ้นวันมาใช้ในการคำนวณค่าดัชนี
o ดัชนี Zero Rate Return (ZRR index)
ดัชนีวัดการลงทุนในตราสารหนี้อายุคงที่ที่ปราศจากความเสี่ยง เช่น ZRR 1 Year Index เป็นดัชนีวัดการลงทุนในตราสารหนี้ที่ไร้ความเสี่ยงที่มีอายุคงที่ที่ 1 ปี โดยวันฐานของดัชนีจะเริ่มต้นที่ 100 ในวันที่ 2 มกราคม 2545 ดัชนีนี้จะมีประโยชน์สำหรับใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบพอร์ตการลงทุนที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้โดยกำหนดอายุเฉลี่ยของพอร์ตลงทุนที่คงที่
o ดัชนีพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (State Owned Enterprise Index)
ดัชนีวัดการลงทุนในตราสารหนี้ประเภทพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ วันฐานของดัชนีพันธบัตรรัฐวิสาหกิจนี้เริ่มต้นที่ 100 ในวันที่ 1 สิงหาคม 2549 โดยพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่นำมาคำนวณหาดัชนี จะรวมพันธบัตรรัฐวิสาหกิจทั้งที่ค้ำประกันโดยกระทรวงการคลังและไม่ค้ำประกัน ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่นำมาคำนวณดัชนีนั้นจะมีเกณฑ์คัดเลือกและสูตรการคำนวณดัชนีเช่นเดียวกับดัชนีพันธบัตรรัฐบาล อาทิ ณ วันคำนวณหาดัชนี ตราสารที่นำมาคำนวณต้องมีอายุคงเหลือ (TTM) มากกว่า 14 วัน ต้องเป็นประเภทจ่ายดอกเบี้ยคงที่ (Fixed coupon) เป็นต้น
o ดัชนีตราสารหนี้ไทย (Composite Index)
เป็นดัชนีวัดการลงทุนตราสารหนี้ทุกประเภทในตลาดตราสารหนี้ไทย การจัดทำดัชนีตราสารหนี้ประเภทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวัดความเคลื่อนไหวของการลงทุนในตราสารหนี้ทั้งตลาด วันฐานของดัชนีตราสารหนี้ไทยนี้เริ่มต้นที่ 100 ในวันที่ 1 กันยายน 2549 โดยดัชนีตราสารหนี้ไทย จะคำนวณจากดัชนีพันธบัตรรัฐบาล, ดัชนีพันธบัตรรัฐวิสาหกิจทั้งที่ค้ำประกันโดยกระทรวงการคลังและไม่ค้ำประกัน และดัชนีหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับน่าลงทุน (Corporate Bond Index BBB up)